28 กรกฎาคม 2567 นายพงศ์ศิริ ธรรมฤกษ์ฤทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง รายงานว่าได้พบนกเงือกกรามช้างปากเรียบฝูงใหญ่ หลายร้อยตัว หาแหล่งอาหาร และที่พักพิง บริเวณแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง โดยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี ที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างจะพบนกเงือกกรามช้างปากเรียบบินอพยพมาหาแหล่งอาหารและอาศัยอยู่ เป็นที่พักในเขตพื้นที่อุทยานฯ เป็นฝูงไม่เกิน 1,000ตัว
แต่ปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี คาดว่าเป็นนกที่อพยพจากแหล่งต่าง ๆ เข้ามาเช่นจากประเทศมาเลเซียมาสมทบเพื่อมาอาศัยและมาหากิน การมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ นับเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่บ่งบอกได้ว่าผืนป่าแดนใต้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างนั้น ยังคงมีความสมบูรณ์อยู่มาก และเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยเพียงพอ จึงทำให้นกกลุ่มนี้อพยพกลับมาที่นี่อีกครั้ง
ปัจจุบันคาดว่ามีนกเงือกกรามช้างปากเรียบ หากินอยู่ในและรอบๆ ป่าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มากกว่า 1,500 ตัว โดยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการนับจำนวนนกเงือกที่บริเวณบ้านช่อนทอง ตำบลทับช้าง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา มีประมาณ ประมาณ 400-500 ตัว และที่บ้านนาปรัง ตำบลคลองกวาง อำเภอนาทวี 600-700 ตัว นอกจากนี้ยังมีกระจายในพื้นที่ อำเภอนาทวี และ อำเภอสะเดา จังหสัดสงขลา อีกหลายจุด ที่แยกออกไปหากินที่ในเขตอุทยานฯเขาน้ำค้างและพื้นที่ป่าใกล้เคียงภายนอกอุทยานฯ และตกตอนเย็นก็มารวมกลุ่มกัน เพื่อมานอนที่ต้นสะเดาเทียมในสวนยางพารารอบๆ อุทยานฯ โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ผู้นำท้องถิ่น ร่วมกับชาวบ้านคอยดูแลความปลอดภัย ไม่ให้ใครรบกวนนกเงือกเหล่านี้
สำหรับอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มีพื้นที่อยู่ในอำเภอนาทวีและอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีสภาพป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยจุดเด่นที่น่าสนใจสวยงาม เช่น น้ำตก ทั้งยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ฐานที่มั่นและของการสู้รบกับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ที่เป็นหลักฐานให้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของการสู้รบอันยาวนานอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างมีเนื้อที่ 132,000ไร่ หรือ (22 ตารางกิโลเมตร) ที่มาของชื่อ “เขาน้ำค้าง” เนื่องจากสภาพของเขาน้ำค้างซึ่งเป็นยอดเขาสูง มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี ในอดีตที่เคยขึ้นไปบนยอดเขาจะเห็นหยดน้ำค้างเป็นเกล็ดอยู่ตามยอดหญ้าลักษณะเป็นใยแมงมุม แม้แต่ตอนเที่ยงวันก็มีน้ำค้างประปรายอยู่บนยอดหญ้า ซึ่งเป็นสภาพที่แปลกเป็นอย่างยิ่ง
ข้อมูล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพ : ประดับ บัวทอง
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง