3 ปี เพร็พพระองค์โสมฯ ประชาชนและประเทศได้อะไร

เพร็พ (PrEP = Pre-exposure Prophylaxis) เป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนที่จะไปเจอ (สัมผัส) กับเชื้อ ทำได้โดยการให้กินยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ตัวรวมกันอยู่ในเม็ดเดียว คือยาทีโนโฟเวียร์ (TDF) กับยาเอ็มทริซิตาบีน (FTC) ซึ่งเรียกว่า ‘ยาเพร็พ’  7 วัน ก่อนจะไปมีพฤติกรรมเสี่ยง ยาจะไปสะสมในเนื้อเยื่อที่เป็นทางเข้าของเชื้อเอชไอวี เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก และท่อปัสสาวะ เมื่อเชื้อเข้ามาก็จะถูกยากำจัดไป จึงไม่ติดเชื้อ

พบว่าการกินยาเพร็พ สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100%  ทั้งในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิง หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และผู้ที่ใช้สารเสพติดโดยการฉีด จึงมีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกให้ทุกประเทศจัดหายาเพร็พให้กับคนที่ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง หรือใช้เข็มฉีดยาที่สะอาดทุกครั้งที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อร่วมหรือเสริมไปกับวิธีการป้องกันอื่นๆ

การตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เจอได้เร็ว ตรวจเจอก็เริ่มให้ยาต้านไวรัสฯ ให้เร็ว (เช่นภายในวันเดียวกันกับที่ตรวจเจอ) ร่วมกับการให้ยาเพร็พให้เร็วกับคนที่ตรวจแล้วไม่พบว่าติดเชื้อแต่ยังหยุดพฤติกรรมเสี่ยงไม่ได้ เป็นวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในหลายประเทศทั่วโลกว่าจะสามารถนำไปสู่การยุติเอดส์ได้จริง กล่าวคือ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีผู้ที่ป่วยหรือเสียชีวิตจากเอดส์

ประชากรหลักที่มีการใช้เพร็พกันมากทั่วโลก คือ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง และคู่ของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสฯ หรือได้รับยาต้านไวรัสฯ แล้วแต่ยังกดเชื้อไม่ได้ (ได้รับยาไม่ถึง 6 – 12 เดือน) อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเสี่ยงมีความสำคัญมากกว่ากลุ่มเสี่ยง เพราะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็ได้ ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงชายทั่วไป ก็อาจมีพฤติกรรมที่เสี่ยงมากก็ได้ หลายคนไม่ยอมรับว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หลายคนไม่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นพฤติกรรมเสี่ยง และยิ่งต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลให้สั่งยาเพร็พให้ ก็ยิ่งคิดว่ายุ่งยาก และพาลทำให้ไม่สนใจที่จะเข้ารับบริการเพร็พ จึงเป็นที่มาของความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติหรือมุมมองเรื่องเพร็พให้เป็นเรื่องของการสร้างเสริมดูแลสุขภาพ การป้องกันโรค ที่ทุกคนควรให้ความสนใจ คล้ายกับการกินวิตามิน หรือยาคุมกำเนิด และต้องจัดบริการให้เข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง

‘ยาเพร็พ’ กินง่าย เพียงวันละเม็ด มีความปลอดภัยสูง ราคาที่คลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทย น้อยกว่า 15 บาทต่อวัน เรียก ‘PrEP 15’ ต้องกินทุกวันตราบเท่าที่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่ ถ้าหยุดพฤติกรรมเสี่ยงได้ก็หยุดเพร็พได้ กลับมากินใหม่ได้อีกถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงอีก อย่างไรก็ตาม การเริ่มกินเพร็พใหม่ทุกครั้งต้องมีการเจาะเลือดก่อนว่ายังไม่มีการติดเชื้อ และต้องมั่นใจว่าพฤติกรรมเสี่ยงครั้งสุดท้ายต้องเกิน 2 – 4 สัปดาห์มาแล้วซึ่งเป็นช่วงเว้นว่างหรือ ‘วินโดว์พีเรียด’ ที่ชุดตรวจจะตรวจพบได้ว่าติดเชื้อ

โครงการ ‘เพร็พพระองค์โสมฯ’ หรือ Princess PrEP’  เป็นโครงการที่สภากาชาดไทยจัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 โดยได้รับพระอนุญาตจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ให้เปลี่ยนชื่อกองทุนลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูกฯ เป็นกองทุนลดการติดเอดส์ฯ เพื่อให้สามารถใช้เงินกองทุนมาช่วยลดการติดเอดส์ในประชากรกลุ่มอื่นๆ ได้ด้วย อันรวมถึงการใช้เพร็พสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ในโครงการ ‘เพร็พพระองค์โสมฯ’

โครงการ ‘เพร็พพระองค์โสมฯ’ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน มกราคม 2559 โดยตั้งเป้าว่าจะจ่ายเพร็พฟรีให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการเข้าถึงบริการ ปีละ 1,000 ราย ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี รวมแล้ว 3,000 ราย โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมและการดำเนินงานขององค์กรชุมชนที่ทำงานกับกลุ่มประชากรหลักในพื้นที่ ซึ่งได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง ชายบริการ สาวประเภทสองบริการ หญิงบริการ และผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สงขลา และชลบุรี โดยอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่ชุมชนซึ่งตัวเองก็เป็นกลุ่มประชากรหลักเช่นเดียวกัน จะได้รับการฝึกอบรมจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย จนมีความรู้ความชำนาญในการให้คำปรึกษาแก่กลุ่มเพื่อน สามารถตรวจหาการติดเชื้อได้ในชุมชน พาผู้ติดเชื้อไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสฯ ที่โรงพยาบาล และสามารถให้เพร็พแก่เพื่อนที่ตรวจแล้วว่าไม่ติดเชื้อแต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ได้ กระบวนการการให้บริการด้านเอชไอวีที่นำและดำเนินการโดยกลุ่มประชากรหลักดังกล่าว เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Key Population-Led Health Services หรือ KPLHS ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกภายในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

องค์กรชุมชนที่ร่วมเป็นเครือข่ายทำงานกับสภากาชาดไทยใน 4 จังหวัดเริ่มต้นดังกล่าว ได้แก่ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ สวิง (SWING) ที่กรุงเทพและพัทยา  สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยที่กรุงเทพและหาดใหญ่ มูลนิธิซิสเตอร์ (SISTER) ที่พัทยา  เอ็มพลัส (MPLUS) และแคร์แมท (CAREMAT) ที่เชียงใหม่ โดยในต่างจังหวัด องค์กรเหล่านี้จะมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาล และสาธารณสุขในพื้นที่ซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา กองทุนลดการติดเอดส์ในพระอุปถัมภ์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ได้ขยายการให้เพร็พฟรี แก่สาวประเภทสองที่มารับบริการที่คลินิกชุมชนคนข้ามเพศ (Tangerine Clinic) ที่คลินิกนิรนามซึ่งไม่สามารถซื้อเพร็พใช้เองได้ รวมทั้งวัยรุ่นที่มารับบริการสุขภาพทางเพศที่คลินิกวัยรุ่นที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ด้วย นอกจากนี้องค์กรชุมชนที่ร่วมงานยังได้ขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดเชียงราย และอุบลราชธานีด้วย รวมเป็น 6 จังหวัด

ตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ทำโครงการเพร็พพระองค์โสมฯ มีผู้ได้รับเพร็พฟรีจากโครงการทั้งสิ้น 3,813 ราย จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าครึ่งของคนไทยทั้งประเทศที่ได้รับเพร็พอยู่ในปัจจุบัน แยกเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 3,055 ราย สาวประเภทสอง 537 ราย ชายบริการ 153 ราย  สาวประเภทสองบริการ 28 ราย หญิงบริการ 23 ราย  และคู่ของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี 17 ราย  ทุกรายที่ได้รับเพร็พจะต้องเข้าเกณฑ์ความเสี่ยงที่จะได้รับเพร็พตามเกณฑ์ของประเทศ เช่น มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้สถานะเอชไอวีโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างน้อย 1 ครั้งในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 6 เดือน หรือมีคู่นอนเกิน 3 คนในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นต้น

ในอดีต กลุ่มประชากรหลักตามเกณฑ์ความเสี่ยงดังกล่าวจะมีการติดเชื้อขึ้นมาปีละ 6% โดยเฉลี่ย กล่าวคือ ทุก 100 คนเมื่อตรวจเลือดซ้ำในอีกหนึ่งปีต่อมาจะพบมีการติดเชื้อขึ้นมาใหม่ 6 คน ดังนั้น ในกลุ่มคนเกือบ 4,000 คนที่ได้รับเพร็พ และติดตามไปโดยเฉลี่ย 2 ปีก็น่าจะมีผู้ติดเชื้อขึ้นมาอย่างน้อย 480 คน (ปีละ 240 คน) แต่ยังไม่พบว่ามีคนที่อยู่ในโครงการเพร็พพระองค์โสมฯ ที่กินเพร็พอย่างต่อเนื่องติดเชื้อขึ้นมาแม้เพียงคนเดียว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลทั่วโลกที่พบมีผู้ติดเชื้อขึ้นมาเพียง 6 รายจากคนที่ได้รับเพร็พทั่วโลกราวครึ่งล้านคนจนถึงปัจจุบัน

โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เห็นว่า รูปแบบการจัดบริการเพร็พในโครงการเพร็พพระองค์โสมฯ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน (KPLHS) ในการเข้าถึงกลุ่มประชากรหลัก เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญยิ่งในการเสริมความเข้มแข็งของรัฐในการยุติปัญหาเอดส์ อีกทั้งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารูปแบบการจัดบริการเพร็พโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถเป็นองค์อุปถัมภ์นี้ ได้รับการสนองตอบทางด้านนโยบายอย่างดียิ่งจากรัฐบาลไทย ในการจัดเตรียมระบบให้การจ่ายยาเพร็พ และกลไก KPLHS สามารถดำเนินต่อเนื่องโดยใช้งบประมาณภาครัฐในกาลข้างหน้า สมควรที่จะเป็นเยี่ยงอย่างให้ประเทศอื่นๆ ทำตามได้ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติจึงได้ทูลเกล้าถวายตำแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention in Asia and the Pacific” ในวันที่ 22 มิถุนายน 2562 แก่พระองค์ท่าน นับเป็นเกียรติที่สูงยิ่งของประเทศ นอกเหนือจากการช่วยชีวิตคนไทยหลายร้อยคนไม่ให้ติดเอดส์โดยโครงการของพระองค์ท่าน

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

Written By
More from pp
“ศรีสุวรรณ” ไม่ได้ตั้งใจทำ “ช่อ พรรณิการ์” ถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต ไม่เชื่อ ทักษิณ ป่วยจริง
หลังจากที่ออกมาร้องเรียน จนทำให้ ช่อ พรรณิการ์ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ก็มีข่าวลือหนาหูว่า ตัวตึงนักร้องเรียนอย่าง “ศรีสุวรรณ จรรยา” สะใจไม่หยุด รายการ “คนดังนั่งเคลียร์”...
Read More
0 replies on “3 ปี เพร็พพระองค์โสมฯ ประชาชนและประเทศได้อะไร”