23 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.35 น. การประชุมวุฒิสภา นัดแรกเพื่อเลือกประธาน และรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและคนที่สอง โดยตำแหน่งประธานวุฒิสภานั้น มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 3 คน คือ 1.นพ.เปรมศักดิ์ เพียยะรุ จากกลุ่มอิสระ 2.น.ส.นันทนา นันทวโรภาส จากกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ หรือสว.สีส้ม และ 3.นายมงคล สุระสัจจะ จากกลุ่มสว.สีน้ำเงิน
ก่อนที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งจะแสดงวิสัยทัศน์ สมาชิกมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องเวลาสำหรับใช้แสดงวิสัยทัศน์ จึงทำให้ประธานที่ประชุมสั่งลงมติในญัตติดังกล่าว ผลปรากฏว่ามีสว.เห็นด้วยให้ใช้เวลาแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที จำนวน 143 เสียง เห็นด้วยให้ใช้เวลาแสดงวิสัยทัศน์ 7 นาที จำนวน 54 งดออกเสียง 3 เสียง เท่ากับสว.เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้แสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที ตามที่
จากนั้นนพ.เปรมศักดิ์ แสดงวิสัยทัศน์ว่า สว.ชุดนี้ถูกสังคมวิจารณ์ถึงที่มาของกลุ่มอาชีพ ไม่ตรงปก ครอบงำจากกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ตนจึงมุ่งมั่นอาสาเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์สิ่งที่ปรากฎในด้านลบ เพราะวุฒิสภาถือว่าเป็นสภาสูง สภาอันทรงเกียรติ ประชาชนคาดหวังในการทำงาน เสื้อของเราถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็จะผิดทั้งหมด ดังนั้น การกลัดกระดุมเม็ดแรกของสว. คือการที่เราต้องเป็นอิสระ เป็นกลาง ไม่ถูกครอบงำจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน หลายคนวิจารณ์ที่มาของเรา ซึ่งคิดว่าห้ามกันยากเพราะเรามาแล้ว แต่ที่ไปเป็นสิ่งที่เลือกได้ ว่า 5 ปีต่อจากนี้จะไปอย่างไร ถ้าเลือกเป็นกลาง เป็นอิสระ ก็จะได้รับคำชื่นชมจากประชาชน แต่ถ้าเลือกอีกด้านหนึ่ง ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นสภาใบสั่ง สภารีโมท สภาหวยล็อค สภาบล็อกโหวต
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า กลไกสำคัญของวุฒิสภาคือกลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นการกลั่นกรองของสว.ต้องไม่ถูกชี้นำจากพรรคการเมืองต่างๆ หรือแม้แต่การให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ อย่าให้มีใบสั่งมาจากบ้านนั้นบ้านนี้ มาจากผู้ยิ่งใหญ่คนนั้นคนนี้ ไม่ใช่นั้นจะไร้ความหมายและจะเกิดปัญหาต่อการยอมรับของประชาชน รวมถึงการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การตั้งกระทู้สด เป็นอาวุธสำคัญของสว. ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน นายกฯหรือรัฐมนตรีต้องตอบด้วยตัวเอง เราต้องยืนยันศักดิ์ศรีของวุฒิสภาต้องมีความศักดิ์สิทธิ์
“ประธานวุฒิสภาจะทำได้ต้องมีสุขภาพดี เช่น กั้นปัสสาวะไม่ไหว แล้วมอบรองประธานไม่ทัน แล้วประธานต้องลุกไปเข้าห้องน้ำกะทันหัน จนทำให้ต้องปิดประชุมกะทันหัน บางคนเก่ง แต่เวลาผ่านไปแพ้สังขาร ผมย้ำว่าเป็นเรื่องจริงจัง อย่ามองเป็นเรื่องเล่น ไม่ไหวอย่าฝืน ปัจจุบันผมอายุ 59 ปี บวกอีก 5 ปี คืออายุ64ปี ผมพร้อมทำหน้าที่เป็นประธานที่มีสุขภาพที่ดี จึงขอให้สมาชิกพิจารณาด้วยเนื้อผ้า อย่าพิจารณาโดยที่ฟังจากคนอื่นว่ามีการรวมเสียง 143 เสียง ถ้าเป็นแบบนี้วุฒิสภาจะไม่พ้นข้อครหา ขอฝากสมาชิกอย่ามองผู้สมัครคนอื่นเป็นเพียงไม้ประดับ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ ประชาชนมองอยู่ทั่วประเทศและคาดหวังกับเรา”นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว
จากนั้นน.ส.นันทนา กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า ที่ผ่านมาวุฒิสภาดูจะเป็นสภาที่ห่างเหินจากการรับรู้ของประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชนและไม่ใช่สถาบันที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้เป็นภาพที่บั่นทอนศรัทธามหาชน นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าเราจะฟื้นฟูของสว.ยุคใหม่อย่างไร ประชาชนจะรู้สึกเป็นเจ้าของสว.ก็ต่อเมื่อเราทำให้วุฒิสภาเป็นสภาของประชาชน แม้ที่มาของสว.จะไม่อาจกล่าวได้ว่ามาจากการเลือกของประชาชน แต่เรายึดโยงกับประชาชนผู้ที่จ่ายภาษีที่เป็นเงินเดือนของเราได้ด้วย 5 ส. ได้แก่ 1.สัมพันธ์ วุฒิสภาชุดใหม่ต้องเป็นสภาที่ยึดโยงกับประชาชนทุกกลุ่ม เราจะสร้างความผูกพันเป็นเจ้าของโดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ประชาชนสามารถเดินเข้ามาฟังการประชุมได้ทุกวันที่มีการประชุมได้ พื้นที่สวนก็สามารถเปิดให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกาย สูดอากาศบริสุทธิ์ โถงใหญ่ก็เปิดให้สถาบันการศึกษา องค์กรสาธารณะสามารถจัดแสดงนวัตกรรม จัดพื้นที่รับร้องทุกข์ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนที่ถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานใดๆ ได้ เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขทุกข้อร้องเรียน เราจะเป็นวุฒิสภาเชิงรุกโดยการจัดรายการสว.ฟังเสียงประชาชน จัดเวทีเสวนากับประชาชนทุกพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า 2.สื่อสาร เราจะใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการยึดโยงกับประชาชน โดยการสื่อสารการทำงานของสว.ผ่านการภ่ายทอดสดการประชุมสภา ผลักดันให้มีการถ่ายทอดสดคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทุกคณะ แถลงผลการทำงานทุกด้าน ตอบทุกคำถามสื่อมวชนโดยยึดหลักสว.รู้อะไร ประชาชนรู้อย่างนั้น 3.สร้างสรรค์ เราจะทำงานอย่างสร้างสรรค์ โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยใช้เวทีสภาถกเถียงประเด็นที่เป็นปัญหาของสังคม โดยเริ่มจากการบรรจุระเบียบวาระที่เป็นประโยชน์ประชาชนเข้าสู่ที่ประชุม ควบคุมการอภิปรายอย่างเป็นกลางให้อยู่ในประเด็นสะท้อนปัญหาและได้ข้อยุติ สภาแห่งนี้ต้องเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองที่มีอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลมาให้ปากคำตอบกระทู้ถามในการแก้ปัญหาสำคัญๆ โดยให้ความเคารพต่อสถาบัน และไม่บ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยงเช่นที่ผ่านมา
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า 4.สมดุล วุฒิสภายุคใหม่ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเราจะเปิดกว้างให้กับทุกศาสนา เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศ เปิดรับทุกเชื้อชาติโดยไม่กีดกันแบ่งแยก เราต้องรับคนทุกวัย เพราะสภาคือพื้นที่แห่งความเท่าเทียมกัน และเราต้องเคารพสิทธิมนุษยชน เราจะโอบรับบุคลากรเข้ามาทำงาน และทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับสภาของเรา และ 5.สากล วุฒิสภาชุดใหม่ต้องเป็นที่ยอมรับของนานาอารยาประเทศ มีกฎระเบียบข้อบังคับที่ทันสมัย เป็นประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากล เป็นแบบอย่างของประเทศในอาเซียน ทำให้ประเทศไทยได้ยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลก
“เวลาที่ประชาชนจะให้โอกาสเราในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของวุฒิสภาแห่งนี้เหลือน้อยเต็มที การตัดสินใจของเพื่อนวุฒิสภา จะเป็นการชี้ชะตาอนาคตของวุฒิสภาแห่งนี้ ท่านเลือกได้ที่จะเป็นตำนานในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวุฒิสภา ในฐานะผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย 5 ปีของวุฒิสภายุคใหม่จะไม่สูญเปล่า แต่จะเป็นสภาแห่งความหวัง สภาแห่งความศรัทธา ดิฉันจึงขออาสาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ ในบทบาทประธานวุฒิสภา และขอวิงวอนท่านสมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติมาร่วมกันทำให้วุฒิสภายุคใหม่เป็นสภาของประชาชน ให้เป็นหนึ่งในเสาหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” น.ส.นันทนา กล่าว
ด้านนายมงคล แสดงวิสัยทัศน์ว่า นับตั้งแต่บรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งปลัดอำเภอ ตนสำนึกว่าแผ่นดินนี้ได้ให้โอกาสมากมายเหลือเกิน ตั้งปณิธานจะอุทิศชีวิต ปฏิบัติหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดิน รับใช้ประชาชน รักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปณิธานแน่วแน่ ยึดมั่นมาตลอด และไม่มีวันเปลี่ยนแปลง จนกว่าชีวิตจะหาไม่
นายมงคล กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการสมัครรับเลือกประธานวุฒิสภา คือ ความหวังที่จะใช้เวลาที่เหลือเพื่อชาติและแผ่นดิน เพื่อรับใช้ประชาชน แก้ปัญหาของคนในชาติ ในช่วงเวลาเป็นวิกฤตครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย นับแต่วันนี้จะตั้งใจทำงานที่ตนวางไว้ และเชื่อว่าสว.ทุกคนมีความตั้งใจไม่แตกต่างจากตน
นายมงคล กล่าวอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะสว. ที่ต้องการให้ประเทศไทยและคุณภาพชีวิตของคนไทยสู่สิ่งที่ดีกว่าและดีขึ้นทุกมิติ อยากเห็นสังคมไทย คนไทย เป็นหนึ่งเดียวกัน เห็นต่างกันได้แต่ต้องไม่สร้างความแตกแยก ต้องเริ่มต้นจากความเป็นหนึ่งเดียวของวุฒิสภา เพราะเป็นองค์กรสำคัญพาสังคมไทยเดินหน้าด้วยสันติวิธี รวมถึงมีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม สอดคล้องกับประเทศไทยและคนไทยอย่างแท้จริง วิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ที่อื่นก็เป็น จึงหวังให้ใครช่วยเราไม่ได้ แต่เราคนไทยต้องช่วยกัน
“ชีวิตผมมาจากก้อนดินก้อนทราย เป็นเด็กวัด เรียนอาชีวะ ผมเข้าใจความยากจนข้นแค้น ความเป็นคนไม่มีเส้นไม่มีสาย ผมเติบโตในระบบราชการด้วยการทำงานอย่างหนัก เต็มความรู้ความสามารถ ผมมีประสบการณ์ประสานงานกับพี่น้องประชาชนในชนบทตลอดชีวิต เกษียณอายุมาแล้วผมก็ยังทำไร่ในชนบท เพราะฉะนั้นผมทราบดี เข้าใจความรู้สึกของเพื่อนสมาชิก ผมเข้าใจปัญหา มีประสบการณ์อันยาวนาน มีเพื่อนอยู่ทุกหมู่เหล่า ผมเชื่อว่าผมจะเข้าใจและทำงานร่วมกับทุกคนได้ วุฒิสภาใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผมว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญปี60 ปฏิรูปใหญ่ เป็นสภาของคนทุกหมู่เหล่าแบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ เป็นครั้งแรกที่วุฒิสภาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาทำหน้าที่”นายมงคล กล่าว
นายมงคล กล่าวด้วยว่า หากตนได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาจะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ธรรมเนียมปฏิบัติทางด้านนิติบัญญัติอย่างเต็มสติปัญญา เต็มความรู้ความสามารถ เพื่อรับใช้อำนวยความสะดวกแก่สมาชิก พร้อมใช้ความรู้ประสบการณ์ประสานงานกับทุกคนให้เป็นเนื้อเดียวกันให้เร็วที่สุด และขอเชิญชวนทุกคนช่วยงานกัน ก้าวเดินพร้อมกัน เพื่อให้วุฒิสภาแห่งนี้บรรลุผลความเป็นสภาของสามัญชน เป็นสามัญชนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อประนอมอำนาจกับวิกฤติของสังคมไทย
กระทั่งเวลา 10.50 น. เริ่มเรียกชื่อสมาชิกเรียงตามตัวอักษร เพื่อรับบัตรลงคะแนนจากเจ้าหน้าที่ แล้วนำไปเขียนชื่อในคูหาเลือกตั้ง โดยเป็นการลงคะแนนลับ ผลปรากฎว่า ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่คือ นายมงคล ได้ 159 คะแนน ขณะที่ น.ส.นันทนาได้ 19 คะแนน และนพ.เปรมศักดิ์ ได้ 13 คะแนน. งดออกเสียง 4 เสียง บัตรเสีย 5 ใบ