18 กรกฎาคม 2567 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับประชาชน ที่นายปานเทพและคณะยื่นไปนั้น ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
นายปานเทพตั้งข้อสังเกตว่า ทิศทางในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น กำลังจะนำไปสู่ทำให้เกิดการผูกขาดของกลุุ่มทุนใหญ่อย่างแน่นอนดังนี้
หลักฐานชิ้นที่ 1 ล็อกสเปกกีดกันแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้าน ผ่านประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 32
โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันในมาตรา 32 กลับไม่ระบุให้ชัดถึงวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านให้มีความชัดเจนดังที่เคยปรากฏตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แต่กลับเลี่ยงใช้คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น
เปิดช่องทำให้เกิดการตีความหรือรอกฎหมายลำดับรองว่าจะหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านหรือไม่ หรือให้มีเงื่อนไขต่างจากวิชาชีพอื่น อันเป็นช่องทางในการกีดกั้นวิชาชีพกลุ่มนี้หรือไม่ โดยบัญญัติเอาไว้ว่า
มาตรา 32 การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกำหนด“
สถานภาพของ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน จึงมีแต่ความคลุมเครือ ทั้งๆที่เป็นกลุ่มแพทย์ที่จ่ายน้ำมันกัญชา และผลิตภัณฑ์กัญชาให้กับผู้ป่วยและชาวบ้านมากกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน
หลักฐานชิ้นที่ 2 ล็อกสเปกผ่านประกาศกระทรวงสาธารณสุขดักหน้า ไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชาและกัญชงได้ ส่วนแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่กล่าวถึงในการสั่งจ่ายยาเสพติให้โทษประเภท 5 ได้
โดยราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. 2567 ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ลงนามโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 เมษายน 2567 กลับไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชา กัญชงได้
อีกทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านให้สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกด้วย ย่อมทำให้แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถจ่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ชนิดใดๆให้ผู้ป่วยได้อีกต่อไป
การที่แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ไม่สามารถสั่งจ่ายสารสกัดกัญชา และสารสกัดกัญชงได้ ส่วสนแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงให้จ่ายยาที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ด้วย ก็เพราะผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มแพทย์เหล่านี้จ่ายให้ผู้ป่วยนั้น ล้วนเป็นการผลิตภายในประเทศที่ราคาไม่แพง และไม่จำเป็นต้องผลิตโดยโรงงานผลิตยาขนาดใหญ่ใช่หรือไม่?
แต่อาจจะทำให้กลุ่มโรงงานผลิตภัณฑ์กัญชาเสียผลประโยชน์เพราะขายกัญชาแพงๆไม่ได้ใช่หรือไม่?
อย่างไรก็ตามการกระทำข้างต้น อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 55 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
หลักฐานชิ้นที่ 3 ล็อกสเปกประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 40 และ 95 เพิ่มบทบาทเภสัชกรในการปลูกกัญชา เอื้อเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชน
โดยบทบาทเพิ่มขึ้นของเภสัชกรในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จนถึงขั้นอาจมีปัญหาที่ปฏิบัติไม่ได้จริง หรือหากปฏิบัติได้ก็จะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต่างจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่ได้ยกเลิกไป แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาในประเด็นดังกล่าวอันเนื่องด้วยกระท่อมและกัญชาได้ถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไปเสียก่อนที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวหนึ่ง ได้เคยรายงาน สถานภาพของนายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้้นและกรรมการในบริษัทร่วมทุนสัญชาติแคนนาดาในธุรกิจกัญชากัญชง
และนโยบายที่กำลังจะเปลี่ยนที่ล็อกสเปกเพื่อเอื้อกลุ่มทุนเช่นนี้ จะทำให้หุ้นส่วนในธุรกิจกัญชาหรือกัญชาที่มีสายสัมพันธ์กับนายมาริษ เสงี่ยมพงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะสามารถเปลี่ยนจากสถานภาพจากที่เคยขาดทุนมาเป็นกำไรได้หรือไม่ในวาระนี้?
ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง รวมถึง คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือแม้แต่คลินิกแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นนิติบุคคล ที่ต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายกัญชา กัญชง ซึ่งเดิมสามารถสั่งจ่ายยาสมุนไพรทุกชนิดให้คนไข้ได้โดยไม่ต้องมีเภสัชกร ด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ และเป็นกำลังสำคัญในการจ่ายยากัญชาให้คนไข้ ก็จะต้องจัดให้มีเภสัชกรซึ่งเป็นคนละวิชาชีพอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะปฏิบัติได้จริงในวิถีของวิชาชีพ
หากผู้ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนไม่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 150
ดังนั้นสถานพยาบาลแบบไหนที่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาได้ ถ้าไม่ใช่ โรงพยาบาล ซึ่งโดยปกติโรงพยาบาลของภาครัฐก็จ่ายกัญชาน้อยมากอยู่แล้ว การมีบทบัญญัติเหล่านี้จึงย่อมเอื้อผลประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลเอกชน จริงหรือไม่
ตัวอย่างโรงพยาบาลเอกชนหนึ่งที่อาจได้ประโยชน์จากการล็อกสเปกต่อไปหรือไม่ คือ บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุดคือครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ คือ
คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แม่ของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีจำนวน 292,062,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 37.14,
นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีจำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.64
นาย พานทองแท้ ชินวัตร พี่ชายหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีจำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.64
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีจำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.64″