สันต์ สะตอแมน
ประกาศ..
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ครบ 6 เดือน) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พบว่าประชาชนพอใจร้อยละ 44.3 ชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่มากที่สุด!
อีกฉบับ.. “นิด้าโพล” สำรวจความเห็นคนกรุงเทพฯ หลังคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่งเป็นผู้ว่าฯ ครบ 2 ปี
พบว่า ประชาชนค่อนข้างพอใจในผลงาน โดยเฉพาะการจัดระเบียบทางเท้า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสนับสนุนการท่องเที่ยว พอใจมากสุด!
เอ้า..ช่วยกันปรบมือแสดงความยินดีให้กับทั้งรัฐบาลและคุณชัชชาติหน่อยครับ..แปะแปะแปะ!
อ้อ.. สมัยหน้า โพลบอกว่า คนกรุงยังจะเลือกคุณชัชชาติร้อยละ 40.75 เชียวนะ รู้เอาไว้ด้วย!
อีกโพล..ผลสำรวจของนิด้า เรื่อง “พฤติกรรมออกสื่อ…ที่น่าเบื่อ” โดยเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อพฤติกรรมที่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก หรือสื่อสังคมออนไลน์
ก็..พบว่ามีถึง 24 ข้อที่เป็นความ “น่าเบื่อ” อันดับ 1 ของประชาชน ซึ่งก็ได้แก่ 1. เห็นแก่ตัว 2. เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น 3. ไม่สนใจกฎระเบียบ 4. ชอบแซะผู้อื่น
5. ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ 6. สตรอเบอรี/ตอแหล/โกหกหน้าตาย 7. ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด 8. เล่าเกินจริง 9. หน้าด้านไม่แคร์ใคร 10. โง่อวดฉลาด 11. พฤติกรรม/วาจาหยาบคาย
12. ชอบยุ่งเรื่องผู้อื่น 13. เอนเอียง/เลือกข้างสุดขีด 14. ขี้อวด 15. ชอบแถ 16. ชอบมโน17. ใช้ภาษาวิบัติ 18. จอมปลอม/แอบอ้าง
19. สร้างภาพ 20. ดรามา 21. สร้างข่าว 22. ยึดติดกับอดีตมากเกินไป 23. หิวแสง และ24. โหนกระแส
ครับ..ท่านผู้อ่านล่ะ รู้สึก “น่าเบื่อ” กับพฤติกรรมออกสื่อตรงกับข้อไหนบ้างก็ลองสำรวจและถามใจตัวเองดู
สำหรับผม..ทั้ง 24 ข้อ เป็นความน่าเบื่อและ “น่ารำคาญ” ที่สุด ก็ไม่รู้เมื่อผลโพลนิด้าออกมาอย่างนี้ จะทำให้ผู้ที่ออกสื่อ คิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกันบ้างหรือไม่?
เสียดาย นิด้าโพลน่าจะถามความเห็นประชาชนพ่วงไปด้วยว่า รายการที่เชิญแขกไปออกสื่อ พฤติกรรม-คำพูด-คำถามพิธีกร “เหมาะสมกับหน้าที่พิธีกร” หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม ผมขอชื่นชมที่สำนักโพลได้คิดหาคำถามที่ประชาชนน่าเบื่อกับพฤติกรรมออกสื่อมาได้มากมายตั้ง 24 ข้อ
ซึ่งถ้าไม่ละเอียดละออและลึกซึ้งถึงความรู้สึกของผู้ถูกถาม เห็นทีคงคิดไม่ออกว่ามีพฤติกรรมไหนบ้างที่ประชาชนน่าเบื่อ..ว่ามั้ย?
เอาล่ะ..จะเบื่อ-จะรำคาญแค่ไหน-อย่างไร ก็เห็นจะต้องทนดู-ทนฟังกันต่อไป เพราะทั้งสื่อหลัก-สื่อออนไลน์ ก็ดูจะมีรสนิยมเดียวกับพฤติกรรมทั้ง 24 ข้อนี้เสียด้วย
หมายถึง ถ้าไม่มีพฤติกรรมน่าเบื่อในข้อหนึ่งข้อใดเสียเลย สื่อก็มักจะไม่เชิญ-ไม่จ้างมาออกรายการ เพราะกลัวไม่มีเรตติ้ง-ไร้คนดู!
นี่..แสดงว่า คนดู-ผู้ชมนี่เองที่ส่งเสริมให้ปรากฏ “พฤติกรรมน่าเบื่อ” ตามหน้าจอสื่อหลัก-สื่อออนไลน์อย่างนั้นสิ?
ไม่นะ.. ผมไม่โทษคนดูหรอก เพราะถ้าสื่อไม่ยัดเยียดให้ต้องดูพฤติกรรมน่าเบื่ออยู่ทุกวัน-คืน ประชาชนก็พร้อมที่ดูพฤติกรรมออกสื่อที่ชวนให้ติดตามด้วยความเพลิดเพลิน สบายใจ!
จำได้..อดีตผู้บริหารทีวีช่องหนึ่งเคยพูดไว้.. “ฉันจะทำละครน้ำเน่าอย่างงี้ต่อไป เพราะคนดูชอบ” ซึ่งละครน้ำเน่าก็ยังมีอยู่ในจอทีวี. จนตราบทุกวันนี้..
ทำไมสื่อ จะไม่ลองเปลี่ยนพฤติกรรมคนดูเสียบ้างล่ะ?