“รัฐมนตรีถุงขนม” ๑ – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

อีกปัญหาหนึ่งของรัฐบาล “เศรษฐา ๒”
คือการแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” ที่เรียกกันว่า “ทนายถุงขนม” เป็นรัฐมนตรี!
วิจารณ์กันว่า “ไม่เหมาะสม”
อาจขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐(๔)(๕)(๗)

ทั้งขัดต่อ “มาตรฐานจริยธรรม(ข้อ ๘)” และ “ประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง(ข้อ ๕)”
เรียกว่า การตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี มีปัญหาทั้งด้านกฎหมายและด้านจริยธรรม

ซึ่งกรณีนี้ ตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง(ข้อ ๑๑) ระบุให้นายกฯ ต้องรับผิดชอบด้วย

แต่นายพิชิตยืนยันมาตลอดว่า….
เขาไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่เคยทำผิดคดีอาญา ทั้งไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม

เรื่อง “ถุงขนม” นั้น
เขาถูกแจ้งข้อหาเมื่อปี ๕๒ว่า “ร่วมกันใช้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ”

แต่พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง”
ต่อมา “สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ๗” ก็มีคำสั่ง “ไม่ฟ้องเด็ดขาด”

ที่เขาถูกสั่งจำคุก ๖ เดือนนั้น ไม่ใช่คำพิพากษาศาล แต่เป็น “คำสั่งศาล” ฐาน “ละเมิดอำนาจศาล”
ไม่ใช่ความผิด “ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ”

เขายังบอกด้วยว่า จากนั้น ๒ ปี ยังไปสมัครรับเลือกตั้ง ได้เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “พรรคเพื่อไทย” ปี ๕๔-๕๖
ปี ๖๒ เป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “พรรคไทยรักษาชาติ” แต่ถูกยุบพรรคไปก่อน

จากปี ๕๒ ถึงขณะนี้ พ้นโทษมาแล้ว ๑๐ ปี รัฐธรรมนูญ ๖๐ ให้เป็นรัฐมนตรีได้
นายพิชิต จึงยืนยัน เขาไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามใดๆ ทั้งสิ้น

นี่เป็น “สารตั้งต้น” ของเรื่อง ซึ่งขณะนี้ มีผู้ยื่นต่อกกต.เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว
จากกกต.ก็จะไปสภา ไปปปช. ไปศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญ สรุป ต้อง “ไปจบที่ศาล”

ฉะนั้น วันนี้ จะนำ “คดีถุงขนม” มารีวิวให้ครบกระบวนความ จากนั้น เราค่อยมาคุยกัน
คำสั่งศาลฎีกาที่พิพากษาจำคุกนายพิชิต ค่อนข้างยาว คงต้อง ๑ หรือ ๒ วัน วันนี้แค่ปูพื้น อ่านเลยนะ
……………………………………….
คำพิจารณาของศาล

ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้น รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อ ๑๐ มิ.ย.๕๑ เวลาประมาณ ๙.๐๐.น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม
ซึ่งเป็นคณะทนายความและผู้ประสานงานของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร” จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับ

ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๐ ได้มาติดต่อเจ้าหน้าที่แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เพื่อรับการรายงานตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ

ระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม รอการมาถึงของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ (นายธนา ตันศิริ) ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 (นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์) ไปตาม “หม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนุท” เจ้าหน้าที่ประจำแผนกมาพบในห้องพักทนายความ

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ได้มอบถุงกระดาษสีขาวข้างในมีของบรรจุอยู่ โดยมีสกอตเทปปิดปากถุงเกือบตลอดแนวให้แก่หม่อมหลวงฐิติพงศ์

หม่อมหลวงฐิติพงศ์กับพวกเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นำถุงไปให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้กล่าวหาสั่งให้เปิดดู

และพบว่าเป็นธนบัตรฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท จำนวน ๒ ตั้ง ตั้งละ ๑๐ มัด มัดละประมาณ ๑๐๐ ฉบับ รวมเป็นเงินประมาณ ๒ ล้านบาท บรรจุอยู่ มีซองสีน้ำตาลปิดทับอยู่ด้านบน

ผู้ถูกกล่าวหา สั่งให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพถุงกระดาษและธนบัตรไว้เป็นหลักฐาน ปรากฏตามภาพถ่ายถุงกระดาษและธนบัตรเอกสารหมาย ก.๑ ถึง ก.๓

จากนั้นผู้ถูกกล่าวหา สั่งให้เจ้าหน้าที่นำถุงไปคืนให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓

วินิจฉัยประการแรก

กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ รู้หรือควรรู้หรือไม่ว่า ในถุงกระดาษดังกล่าวมีธนบัตรจำนวน ๒ ล้านบาท บรรจุอยู่

ในปัญหานี้ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา มีหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนุท เป็นพยานเบิกความว่า ในขณะที่พยานกำลังตรวจดูสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ อยากจะขอปรึกษาเรื่องคดีด้วย

พยานทราบว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ เป็นผู้คอยติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร มาศาลทุกครั้ง และจะอยู่ในกลุ่มของทนายความ

จากนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ก็เดินเข้าไปในห้องพักทนายความ พยานเดินตามเข้าไปนั่งที่โต๊ะ โดยนั่งตรงข้ามและนั่งกันอยู่เพียง ๒ คน

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ พูดขึ้นว่า ระยะนี้ต้องมาติดต่อบ่อย เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อย ก็เลยมีของมาฝากให้เจ้าหน้าที่ทุกคน

แล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ก็เดินไปหยิบถุงสีขาว ซึ่งมีสกอตเทปปิดปากถุงตามยาวเกือบตลอดปากถุง ไม่สามารถมองเห็นข้างในได้มามอบให้แก่พยาน

ตอนนั้น พยานเข้าใจว่าเป็นขนม เห็นว่า พยานเป็นเจ้าหน้าที่ศาล เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา ทั้งสามติดต่อประสานงานมาโดยตลอด ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน

คำเบิกความของพยานจึงน่าเชื่อถือ เชื่อว่าตอนที่มอบถุงกระดาษกัน พยานกับผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ อยู่ด้วยกันเพียง ๒ คน

การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ติดต่อให้พยานไปพบที่ห้องพักทนายความ แล้วมอบถุงให้พยานเพียงสองต่อสองก็ดี

การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ พูดเป็นนัยว่า “มีของมาฝากเจ้าหน้าที่ทุกคน” โดยไม่บอกให้พยานทราบว่าเป็นขนมหรือช็อกโกแลตก็ดี

และการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ส่งมอบถุงกระดาษที่ปกปิดมิดชิด จนไม่สามารถทราบว่า สิ่งของข้างในเป็นอะไรก็ดี
จึงเป็นเรื่อง “ผิดปกติวิสัย”

เพราะหากผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ต้องการมอบขนมหรือช็อกโกแลตให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจ ดังที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ อ้างจริง

ก็ย่อมต้องนำถุงขนมหรือช็อกโกแลตที่อ้างไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ ที่ห้องธุรการทั้งหมดโดยตรงและโดยเปิดเผย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของตน

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริง ก็ยังปรากฏต่อมาว่า
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ถูกเรียกให้ไปรับถุงกระดาษคืน “นายอำนาจ วงศ์สวรรค์” ซึ่งเป็นนิติกรประจำแผนกก็เบิกความยืนยันว่า

พยานถามผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ว่า “ใครเป็นคนให้”
ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ตอบว่า “ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ เป็นคนนำถุงกระดาษมาให้” พยานจึงให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ไปตามผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓

หลังจากนั้น ๒-๓ นาที ผู้ถูกกล่าวที่ ๒ ก็พาผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ มาที่หน้าเคาน์เตอร์ พยานถามผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ว่า
“ทราบหรือไม่ว่าในถุงเป็นอะไร?”

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ตอบว่า “ทราบ” พยานจึงตอบไปว่า “เรารับไม่ได้” พร้อมกับส่งถุงคืนไป ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ รับถุง แล้วก็เดินจากไป โดยไม่ได้พูดอะไร

เห็นว่า พยานปากนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ศาลและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ มาก่อน คำเบิกความจึง “มีน้ำหนักเชื่อถือได้” เช่นกัน

เชื่อว่าพยานเบิกความตามที่รู้เห็นจริง การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ รับกับพยานว่า ทราบว่าของในถุงเป็นอะไร

พร้อมกับรับถุงไปโดยไม่อิดเอื้อน ไม่เปิดถุงออกดู และไม่อธิบายว่าข้างในถุงเป็นอะไร ย่อมเป็นพิรุธของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ย่อมต้องทราบอยู่แล้วว่า ของในถุงเป็นเงิน

ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ นำสืบโดยสรุปทำนองว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ขายบ้านให้แก่ “นายบุญชาญ อักษรสุวรรณ” ได้ในราคา ๕,๓๐๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวน ๒ ล้านบาท เป็นเงินที่ชำระค่าบ้านส่วนหนึ่ง

ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๑ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ มอบเงินให้ภริยาห่อใส่ถุงกระดาษเพื่อไปฝากธนาคารในวันรุ่งขึ้น
และก่อนเกิดเหตุ ๒-๓ วัน ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ให้ภริยาไปซื้อช็อกโกแลต แล้วนำมาห่อใส่ถุงกระดาษที่เหมือนกันเพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ศาลในวันนัด ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ

แต่คนขับรถของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ หยิบถุงผิด เพราะถุงกระดาษที่บรรจุเงินคืนให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ น่าจะต้องกล่าวคำขอโทษในทันที

และน่าจะต้องสั่งให้ พ.ต.ท.วทัญญู เอาถุงกระดาษที่บรรจุช็อกโกแลตกลับขึ้นมาให้ตน เพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ศาล เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของตน

ทั้งหากผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ มีถุงกระดาษที่มีลักษณะเหมือนกัน ๒ ถุง โดยถุงหนึ่งบรรจุเงินประมาณ ๒ ล้านบาท และอีกถุงหนึ่งบรรจุช็อกโกแลตจริง

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวัง ตรวจดูเป็นพิเศษกว่าปกติธรรมดา ก่อนส่งมอบถุงให้แก่ หม่อมหลวงฐิติพงศ์ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ก็หาได้กระทำไม่

ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ รู้อยู่แล้วว่า ถุงกระดาษที่มอบให้แก่ “หม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนุท” เจ้าหน้าที่ประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา มีธนบัตรจำนวนประมาณ ๒ ล้านบาท บรรจุอยู่

วินิจฉัยประการต่อไป

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ (นายพิชิต ชื่นบาน) และที่ ๒ (นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์)
ร่วมรู้เห็นหรือให้ความร่วมมือในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ (นายธนา ตันศิริ) หรือไม่?

ในปัญหานี้ ได้ความจาก “หม่อมหลวงฐิติพงศ์” ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ (นายพิชิต) เป็นทนายความให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ ๑ และ ที่ ๒ ตามลำดับ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๐

โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ (นางสาวศุภศรี) เป็นเสมียนทนายและเป็นเลขานุการส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ และที่ ๓ (นายธนา) เป็นผู้ติดตามพตท.ทักษิณ

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะมาศาลกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ทุกครั้ง

ข้อเท็จจริงส่วนนี้………
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม (นายพิชิต-นางสาวศุภศรี-นายธนา) ก็นำสืบเจือสมกับพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ว่า

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ เป็นผู้ประสานงาน ระหว่างพตท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กับฝ่ายทนายความ ซึ่งคือ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ และ ๒ กับเจ้าหน้าที่ศาล

ทั้งข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามก็ปรากฎว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม มีการพูดคุยและประสานงานกันตลอดเวลาขณะอยู่ที่ศาลฎีกา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ เกี่ยวกับคดีจึงอยู่ในความรู้เห็นของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ และ ๒ ด้วย
ถือได้ว่า “เป็นคณะทำงานเดียวกัน”

ดังจะเห็นได้จาก ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ไปตามหม่อมหลวงฐิติพงศ์ไปพบที่ห้องพักทนายความ
ทั้งๆ ที่ขณะนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ห่างไปเพียง ๑ วา ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ และที่ ๒ ต่างก็เห็นหม่อมหลวงฐิติพงศ์ เดินถือถุงกระดาษออกมาจากห้อง

วิสัยของคนที่ทำงานร่วมกันใกล้ชิดเช่นผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ย่อมต้องถามไถ่หรือบอกกล่าวให้รู้กันว่า จะนำช็อกโกแลตมาให้เจ้าหน้าที่ศาล โดยไม่จำต้องปิดบัง

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ เป็น “หัวหน้าคณะทนายความ” ของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ดังกล่าว เป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รูปคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานแล้ว

ยังเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อวิชาชีพของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ (นายพิชิต ชื่นบาน) เองด้วย

แทนที่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ จะซักไซร้ไล่เรียงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน แล้วดำเนินการแก้ไข นำสิ่งของที่ถูกต้องมามอบให้หรือนำถุงทั้งสองใบไปแสดงในทันที หรือตำหนิผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ก็หาได้กระทำไม่

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ กลับโทรศัพท์ไปขอโทษและปรับความเข้าใจกับหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ร้องขอ
พร้อมทั้งสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ มีส่วนรู้เห็น ในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ในลักษณะเป็น “ตัวการร่วมกัน”

ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ แม้ขณะเกิดเหตุ เป็นเพียงเสมียนทนาย แต่ก็เป็นทนายความในสำนักงานของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ มาก่อน ทั้งยังเป็นผู้ประสานงานให้หม่อมหลวงฐิติพงศ์ ไปพบกับผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓

และเมื่อผู้กล่าวหา สั่งให้คืนถุงบรรจุเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ก็ยังไปเรียกผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ มารับถุงคืน

นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ยังรออยู่ที่บริเวณเคาน์เตอร์แผนกรับฟ้องและห้องพักทนายความที่เกิดเหตุตลอดเวลา

ลักษณะของการกระทำดังกล่าวถือได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามดังกล่าว จึงเป็นการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทำ

ฟังได้ว่า “เป็นตัวการร่วมกัน”

วินิจฉัยประการสุดท้าย ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลหรือไม่?

เห็นว่า เงินที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ มอบให้ ม.ล.ฐิติพงศ์ เพื่อนำไปแบ่งกันกับเจ้าหน้าที่ในแผนก มีจำนวนมากถึง ๒ ล้านบาท

แสดงให้เห็นว่า ……….
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม มีเจตนาที่จูงใจให้ หม่อมหลวงฐิติพงศ์ และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่”
ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.๑/๒๕๕๐

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๓๑(๑),๓๓ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
และน่าจะมีมูลความผิดฐาน “ให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ

จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป

ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนละ ๖ เดือน

ส่วนความผิดฐาน “ให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน นั้น

ให้ผู้กล่าวหา ไปดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
——————————-

ครับ…นี่คือการปูพื้นเป็นเบื้องต้น
“ในส่วนความผิดฐาน “ให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน” นั้น

ที่ศาลสั่งว่า……
“ให้ผู้กล่าวหา ไปดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ปรากฏว่า แจ้งความตำรวจแล้ว ตำรวจทำสำนวน “สั่งไม่ฟ้อง”
ไปถึงอัยการ อัยการก็ “สั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด”!

ด้วยเหตุผลใดและยุคใครเป็น “อัยการสูงสุด”?
พรุ่งนี้… “ขุดมาคุยกัน”!

เปลว สีเงิน
๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗

Written By
More from plew
เมื่อ “เดือนกันยา” มาเยือน-เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ขอบอกกล่าวกันนิดครับ ช่วงนี้ผมคงคุยแบบ “ตะกุยๆ คุย” แล้วรีบเผ่น เพราะโควิดมันรุกประชิดมาติดโรงพิมพ์เหลือเกิน “ไทยโพสต์” จะปิด “หนีโควิด” ก็เสียเชิง...
Read More
0 replies on ““รัฐมนตรีถุงขนม” ๑ – เปลว สีเงิน”