สันต์ สะตอแมน
ฝรั่งเตะหมอ..
กรณีนี้ นอกจากจะให้เห็นใจ-เข้าใจความรู้สึกของคนในพื้นที่ ที่โมโหโกรธาถึงขั้นนัดรวมตัวกันตะเพิดฝรั่งผู้มากอิทธิพลบนเกาะภูเก็ตไปให้พ้นประเทศไทยแล้ว
ด้านหนึ่งทำให้เกิดความรู้ จากที่ “Pichet Pandam” โพสต์ (ขออนุญาตตัดทอนบางช่วงตอน)ว่า..
“การเริ่มต้นการท่องเที่ยวในภูเก็ต เกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2522 ที่เริ่มจากกลุ่มคนหนุ่มสาว และกลุ่มฮิปปี้ (hippy) คล้ายเป็นนักแสวงหาและนักผจญภัย มาเที่ยวและหาที่พัก
ซึ่งเป็นเพียงบังกะโลขนาดเล็กของคนท้องถิ่น บริเวณหาดป่าตอง กะตะ กะรน ราไวย์ กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ได้ให้ความหมายของสถานที่ท่องเที่ยวว่า “สวรรค์ของคนพลัดถิ่น” (maginal paradises)”
หลักหมายของการเริ่มต้นการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 มีปฏิบัติการปฏิเสธโรงงานแทนทาลั่มของคนท้องถิ่นภูเก็ตและปริมณฑลด้วยวิธีการแบบเปิดเผย
เป็นการตัดสินใจร่วมกัน อาจนับได้ว่าเป็นฉันทามติภูเก็ต (Phuket consensus) ที่คนภูเก็ตยินยอมพร้อมใจ และคาดหวังร่วมกันว่า
การท่องเที่ยว คือความหวังใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจภูเก็ตแทนอุตสาหกรรมดีบุก โดยมี ฝรั่งชาติตะวันตก หรือ “โหม้ผลั้ง” เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เพราะฐานะทางเศรษฐกิจ มีกำลังซื้อ
จุดขายคือความสวยงามและความรุ่มรวยของทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนจากนักลงทุนต่างถิ่นทั้งในประเทศและทุนข้ามชาติ
ด้านหนึ่งการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ในภาพรวมให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้สร้างปัญหาที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน
โดยเฉพาะการรุกล้ำหรือแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ ที่ชุมชนและคนภูเก็ตเคยใช้ประโยชน์ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่หรือกิจกรรมการท่องเที่ยว
ปรากฏการณ์สำคัญและ “ของแปลกๆ (ตามสำนวนคนภูเก็ต)” เริ่มเกิดขึ้น ได้แก่ พื้นที่ชายหาดบางแห่งถูกกันกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว การย้ายโรงเรียนเพื่อสร้างเป็นที่พัก
ถนนสาธารณะต้องลอดผ่านโรงแรม เป็นต้น..ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะ “ระบบการท่องเที่ยว” ที่เราออกแบบเน้นการขายทุกอย่างในนามคำว่า การบริการ (service)
มากกว่า การเคารพ (respect) หรือคุ้มครอง (protect) คน ทรัพยากร วัฒนธรรม”
ยัง..ยังได้รู้ต่อว่า หลังสึนามิ (หลังปีพ.ศ.2547) การท่องเที่ยวได้ขยายตัวมาทางฝั่งตะวันออกของภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการทำประมงชายฝั่ง
และเคยทำหน้าที่ในฐานะแหล่งผลิตอาหารเพื่อการท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันตก โดยมีจุดขายคือเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากสึนามิและเป็นพื้นที่ส่วนตัว
กลุ่มเป้าหมายหลักกลายเป็น กลุ่มระดับไฮ เอนด์ ในรูปแบบ วิลล่าหรู การท่องเที่ยวเรือยอชท์ โรงแรมระดับ 5-7 ดาว
พื้นที่ที่เคยเป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงเมืองภูเก็ตและกลุ่มคนท้องถิ่นที่จัดวางตนเองเป็นเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ถูกแย่งชิงกลายเป็นพื้นที่เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยว
และเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน คนท้องถิ่นยิ่งถูกผลักไสและไม่ให้ “คุณค่าที่สมคุณค่า” กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นคนอื่น (the others) ในบ้านเกิดตนเอง..
การออกแบบการท่องเที่ยวในฐานะ “งานบริการทุกระดับ ประทับใจ” โดยรัฐที่เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ ส่งผลให้ “นักท่องเที่ยว” กลายเป็นศูนย์กลาง..
สิ่งนี้จึงเกิดความรู้สึกเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ที่ระบบการท่องเที่ยวบ้านเราได้สร้างขึ้น..”
ครับ.. “Pichet Pandam” ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า..“การไล่นักเตะและภรรยา ออกไปจากประเทศ และการพิพากษาถึงพฤติกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของทั้งสองคน
จำเป็นต้องทำหรือดำเนินการตามกระบวนการ แต่ไม่ใช่การแก้ไขที่รากปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เราเข้าใจว่า มีคนต้องการให้ “นักเตะและภรรยา” เป็นเหยื่อและเป็นคำตอบสุดท้าย
ทั้งนี้ เพื่อต้องการหลบซ่อนระบบหรือโครงสร้างการท่องเที่ยวที่เห็นคนไม่เท่ากัน และการหากินกับระบบนี้ในฐานะผู้ได้เปรียบ ให้ดำรงอยู่ต่อไป”
อย่างงี้..สังคายนาเถอะ!
ภาพจากเฟซบุ๊ก Pichet Pandam