29 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม หารือหน่วยงานภาคีเครือข่าย บูรณาการการทำงานด้านการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก กรมการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม
ที่ประชุมได้รายงานถึงปัญหาต่าง ๆ ด้านการท่องเที่ยว อาทิ ปัญหารถยนต์รับจ้างสาธารณะ (ตุ๊กตุ๊กและแท็กซี่) ในการติดต่อ รบเร้า ชักจูงนักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่เกี่ยวข้อง การเรียกเก็บค่าโดยสารที่ต้องจัดการให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย การสัญจรทั้งทางเดินเท้าและท้องถนน รวมถึงความปลอดภัยในมิติต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในภาพรวม 5 มาตรการ คือ
1. การสัญจร โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ กล้อง AI ตรวจจับการกระทำผิดการจราจร จัดระเบียบทางเท้า จัดระเบียบการจอดรถรับส่งสาธารณะ
2. การออกสัญลักษณ์แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการ และออกให้กับผู้ให้บริการใช้ เช่น สติกเกอร์ติดตุ๊กตุ๊กและแท็กซี่ ถึงคำเตือนแก่นักท่องเที่ยวให้ระวังการชักจูงไปซื้อสินค้าและบริการในลักษณะหลอกลวง และเป็นสัญลักษณ์ว่าหากรถคันไหนมีสติกเกอร์หมายความว่าได้มีการลงทะเบียนแล้ว รวมถึงร้านค้าด้วยเช่นกัน
3. การบูรณาการสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตักเตือน จับปรับ ตัดแต้ม แก่ผู้กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยว
4. มาตรการทางสังคม โดยการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นหูเป็นตา พร้อมชื่นชมคนทำดีเพื่อสังคม ตักเตือนคนทำผิด
5. ประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดต่อที่เป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวตั้งแต่แรกก้าวเข้าประเทศไทย อาทิ เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญในการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ ออกไกด์บุ๊กรายชื่อร้านค้าและบริการที่เป็นมิตร ติดดาว และไว้วางใจได้ ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กับนักท่องเที่ยว
โดยมาตรการต่าง ๆ เริ่มดำเนินการไปในเบื้องต้นแล้วกับ “ราชประสงค์โมเดล” ที่ทำการจัดระเบียบเพื่อการท่องเที่ยว และจะดำเนินการเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะขยายผลต่อไปในจุดที่เป็นย่านการท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์