สันต์ สะตอแมน
เร็วกว่าพรรคการเมือง!
GMM TV โพสต์จดหมาย.. “จากกรณีที่ “ภวิน-ธนิก กมลธรานนท์” นักแสดงในสังกัด GMMTV ได้มีผู้ใช้ บัญชีAccount Imstagram :Kaellynnn
กล่าวถึงในเนื้อหาเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย เบื้องต้นทางบริษัทฯ ได้รับทราบถึงกรณีดังกล่าวและไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริง
หากได้ข้อสรุปต่างๆ แล้ว ทางบริษัทฯ จะดำเนินการแจ้งให้ทราบในลำดับถัดไป
และหากพบว่านักแสดงในสังกัดมีความผิดจริง จะดำเนินการตามมาตรการขั้นสูงสุดต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”
ครับ..ก็รับทราบกันเอาไว้ ซึ่งจดหมายดังกล่าวนี้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 และรอดูสิว่า “กระบวนการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริง” จะใช้เวลากี่วัน?
เอ้า..ส่วนนู่น “สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย” จะได้เก็บรวบรวมข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วหรือไม่ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเมื่อวานซืนได้โพสต์..
“สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ชวนทุกท่านมาถอดบทเรียนกัน จากกรณีภาพยนตร์ไทยที่ถูกแบน เช่นเรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” และ “ Insects in the backyard”
จนมีการฟ้องร้องคณะกรรมการเซ็นเซอร์ และชนะคดี
ท่านคิดว่าประเทศไทย ยังควรมีการแบนหนังต่อไปหรือไม่ จงให้เหตุผล เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาร่างกฎหมายต่อไป #ยกเลิกการแบน #ปลดแอกภาพยนตร์
นี่..ถ้าไม่บอกเป็นสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผมคงคิดเอาว่าเป็น “สาร” จากพรรคก้าวไกลแล้วล่ะ เพราะมาทรงเดียวกันเด๊ะ..
คือ..การจุดกระแสให้เกิดการถกเถียง เกิดการแตกแยกทางความคิดขึ้นในสังคมด้วยข้อมูล-ข้อเท็จจริงที่บิดเบี้ยว!
บิดเบี้ยว ด้วยเพราะ “Insects in the backyard” ที่เจ้าของหนังฟ้องร้องคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ “แบนหนัง” ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่ง “ยกฟ้อง” นะจ๊ะ!
ส่วน “เช็คสเปียร์ต้องตาย” ผมไม่ทราบคำตัดสิน รู้แต่เพียงว่าเรื่องนี้อยู่ในศาลปกครองชั้นต้นมาเป็น 10 ปี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงได้ดองเอาไว้เสียนาน?
บิดเบี้ยวต่อมา.. “คณะกรรมการเซ็นเซอร์” น่ะ ได้ยกเลิกไปนานแล้ว หลังมีการประกาศกฎกระทรวง การกำหนดลักษณะประเภทภาพยนตร์ หรือ “เรตติ้ง” เมื่อ 10 สิงหา 2552
ซึ่งผู้กำกับบางท่านอาจจะยังศึกษาวิชาภาพยนตร์อยู่ในรั้วมหาลัยก็เป็นได้ จึงไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้!
ความจริง..ควรแบนหนังต่อไปหรือไม่? ไม่ต้องถามความเห็นประชาชนก็ได้ นอกเสียจากเจตนาถามเพื่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์..
จะเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาร่างกฎหมาย หรือเพื่อประโยชน์ใครคณะใด-คณะหนึ่งหรือไม่ ผมก็ชักไม่แน่ใจ?
แต่ที่พอจะมั่นใจ..นายกฯและกรรมการบริหารสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยยุคนี้ ดูจะมีแนวคิด-อุดมการณ์ที่ค่อนข้างเอนอิงไปทางการเมือง ส่วนจะเป็นพรรคไหนคงไม่ต้องบอก
เพราะแค่เห็นแฮชเท็กซ์ #ปลดแอกภาพยนตร์ ก็พอจะเดาออก ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ภาพยนตร์ไทยนั้นถูกควบคุม หรือถูกกดขี่จากผู้มีอำนาจแบบไหน-อย่างไร?
ด้วยผมคลุกคลีอยู่กับแวดวงคนทำหนังมาก็หลายปี รวมทั้งการได้เป็นกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ฯในห้วงเวลา 8-9 ปี..
ผมไม่เคยรู้สึกหนังไทยถูกกดขี่ จะมีก็แต่ “นายทุน” ที่พยายามจะ “ขี่” ผู้กำกับฯ และไม่เคยมี “อำนาจ” จากคนในองค์กร หน่วยงาน หรือรัฐบาล มาชี้นำ หรือบังคับแม้แต่สักครั้งเดียว!
และจากประสบการณ์-ความรู้สึกตัวเอง ผมอยากยืนยันเสียตรงนี้..การกำหนดลักษณะประเภทภาพยนตร์ (เรตติ้ง) ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการทำหนังเลย
ส่วนผู้กำกับที่สนับสนุนให้ยกเลิก “แบนหนัง” ขอถามนิด..ถ้าหนังมีเนื้อหากระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อหาก่อให้เกิดการแตกแยกของคนในชาติ
เนื้อหาที่มีการแสดงฉากร่วมรัก เห็นการสอดใส่อวัยวะเพศเหมือนหนังเอ็กซ์ล่ะ..
ทำไง?