‘ติดเตียง’ หรือ ‘ติดไวน์’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไหนๆ แล้ว ก็ไปให้สุด!

ฟัง พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงข่าววานนี้ (๒๓ กุมภาพันธ์) ดูจะให้เกียรติคำว่า “ข้าราชการ” น้อยไปหน่อย

ความหมายของข้าราชการที่ดี หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติงานของพระราชาหรือของราชการ คือ งานของแผ่นดินให้เรียบร้อยสมบูรณ์ที่สุด

โดยยึดหลัก การครองตน ครองคน ครองงาน

เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร ๑ ซึ่งเป็นสำนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เขตดังกล่าว เดินทางเข้าพบ “นักโทษชายทักษิณ” และผู้อุปการะ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อแจ้งเงื่อนไข ข้อกำหนดการพักโทษ

และนัดหมายรายงานตัวในครั้งถัดไป

ประเด็นอยู่ที่ข้อกำหนด ข้อห้าม หรือเงื่อนไขต่างๆ ระหว่างการพักโทษ คือ “๕ ให้ ๕ ห้าม” สำหรับผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ

ประกอบด้วย ๕ ให้

คือ ๑.ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน ๓ วัน

๒.ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ

๓.ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติรับทราบ ส่วนการจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย หากผิดเงื่อนไขก็ต้องส่งตัวกลับเข้าเรือนจำฯ

๔.ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ

๕.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ

ส่วน ๕ ห้าม

คือ ๑.ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาตและต้องแจ้งกำหนดเวลาการไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้

๒.ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนันหรือดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะดื่มไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมสามารถทำได้

๓.ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด

๔.ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน

และ ๕.ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ

คำถามคือ “๕ ให้ ๕ ห้าม” นี้ มาจาก กฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ใช่หรือไม่

ถ้าใช่ เราคงมาถึงยุคที่กรมราชทัณฑ์แปลงกฎหมายตามใจชอบกันแล้ว

หมวด ๙ กฎกระทรวงฉบับนี้ ระบุเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษต้องปฏิบัติ

ข้อ ๗๒ เงื่อนไขที่เป็นข้อห้ามมิให้นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษกระทำการ มีดังต่อไปนี้

(๑) ห้ามเข้าไปในเขตท้องที่ สถานที่ หรือตามเวลาที่กำหนด

(๒) ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดอีก

(๓) ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษทุกประเภท รวมทั้งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดทุกชนิด

(๔) ห้ามประพฤติตนในทางเสื่อมเสีย โดยการเสพสุราหรือเล่นการพนันที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายอีก

(๕) ห้ามเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง หรือผู้ต้องกักกันอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ สถานกักขัง สถานกักกัน หรือสถานคุมขังอื่นใด

(๖) ห้ามเดินทางออกนอกเขตท้องที่จังหวัด เว้นแต่มีธุระสำคัญเป็นครั้งคราว ให้ขออนุญาตพนักงานคุมประพฤติ หากจะย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนแปลงผู้อุปการะ ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานคุมประพฤติในท้องที่เดิมและต้องได้รับอนุญาตก่อน

(๗) เงื่อนไขอื่นตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยลดวันต้องโทษจำคุกหรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษกำหนด

ข้อ ๗๓ เงื่อนไขให้นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษกระทำการมีดังต่อไปนี้

(๑) รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ

(๒) พักอาศัยอยู่กับผู้อุปการะตามสถานที่ที่แจ้ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้ยื่นคำร้องต่อพนักงาน คุมประพฤติในท้องที่เดิมและต้องได้รับอนุญาตก่อน

(๓) ปฏิบัติตามคำแนะนำและคำตักเตือนของพนักงานคุมประพฤติและเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมคุมประพฤติกำหนด

(๔) ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ หากมีการฝ่าฝืนและถูกลงโทษโดยเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับนั้น ไม่ว่าจะเป็นโทษสถานใดนักโทษเด็ดขาดหรือผู้อุปการะนักโทษเด็ดขาดผู้นั้นต้องแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง

(๕) ประกอบอาชีพสุจริต หากจะเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือย้ายงานใหม่ ต้องแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบภายในกำหนดระยะเวลาการรายงานตัวครั้งต่อไป

(๖) เงื่อนไขอื่นตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยลดวันต้องโทษจำคุกหรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษกำหนด

บางข้อตรง บางข้อไม่มี บางข้อเกิน

ทำไมไม่ยึดตามตัวบท!

ไวน์ สำหรับคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ใช่ผู้ป่วย หากดื่มเป็นก็เป็นยาได้ แต่สำหรับผู้ป่วยหนัก ไวน์คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มแล้วเมากลิ้ง หรือช็อกตายได้

แต่…รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ พูดเหมือนเปิดช่องให้บ้านจันทร์ส่องหล้าจัดงานเลี้ยง ต้อนรับการกลับมาของ “นักโทษชายทักษิณ” ได้

ก็เชิญครับ คนมีเงินเลี้ยงไวน์กี่ลังก็ได้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ไม่อายกันบ้างเลยหรือ

เรื่องแบบทดสอบผู้ที่จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับพักโทษ เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่จะเอาคนของกรมราชทัณฑ์เข้าคุก

แบบทดสอบ มี ๑๐ ข้อ ข้อละ ๒ คะแนน ผู้ทำแบบทดสอบต้องได้คะแนนไม่เกิน ๑๑ คะแนน จึงจะอยู่ในเกณฑ์ได้รับพักโทษ ประกอบด้วย

กินอาหารด้วยตนเองไม่ได้

ใช้ห้องน้ำด้วยตนเองไม่ได้

ชำระร่างกายด้วยตนเองไม่ได้

สวมเสื้อผ้าด้วยตนเองไม่ได้

เดินไปมาภายในบ้านไม่ได้

ลุกจากเตียงไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้

ขึ้นบันไดด้วยตนเองไม่ได้

อาบน้ำไม่ได้

กลั้นอุจจาระไม่ได้

กลั้นปัสสาวะไม่ได้

ทั้งหมดนี้คือผู้ป่วยติดเตียง

แต่ดูภาพ “นักโทษชายทักษิณ” วันที่ต้อนรับ สมเด็จฮุน เซน ก็ได้คำตอบ

นั่งตัวตรง หน้าตาเต่งตึง ผมดำขลับ แขนขาไม่ลีบ มีพุง แสดงว่ากินอิ่มนอนหลับ

ไม่มีเค้าผู้ป่วยติดเตียงเลยครับ

หรือจะเป็นผู้ป่วยติดไวน์

Written By
More from pp
นายกฯ ขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Medical and Wellness Hub ต่อเนื่อง ยินดีตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยคงอันดับ 1 ในอาเซียน เดินหน้าจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21
นายกฯ ขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Medical and Wellness Hub ต่อเนื่อง ยินดีตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยคงอันดับ 1 ในอาเซียน เดินหน้าจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่...
Read More
0 replies on “‘ติดเตียง’ หรือ ‘ติดไวน์’ – ผักกาดหอม”