เปลว สีเงิน
“๒ เรื่องที่รัฐบาลรอคอย” มีคำตอบแล้ว
-เรื่องบีบไข่แบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ย
ปรากฎว่า “ไข่แข็ง”!
กนง.(คณะกรรมการนโยบายการเงิน)ประชุมแล้ว (๗ กพ.๖๗) มีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ๒.๕๐%ตามเดิม
-เรื่องกู้มาแจกคนละ ๑ หมื่น รวม ๕ แสนล้าน
ปรากฏว่า ปปช.ชี้ “เศรษฐกิจไม่เข้าขั้นวิกฤต”
แต่ถ้ารัฐบาล “อยากเสี่ยงคุก” ก็เชิญเลย!
ปปช.แจง ๔ ความเสี่ยงไว้เป็น “คุกสังวรณ์” ถ้าอยากแจกตามวิธีที่ซ่อนจิตไว้ ก็ต้องรับความเสี่ยงเอาเอง
พร้อมกันนั้น ก็ให้ “๘ ข้อเสนอแนะ” เป็นการแผ่มุทิตาจิต
โศกนาฎกรรมของสัตว์เมือง มะแล-มะเลือง เรื่องส่อไม่ซื่อ ก็สรุปได้อย่างนี้แหละ…พี่น้อง!
“การเงิน-การคลัง” เหมือนคน ๒ ขา จะเดิน ก็ต้องเดินไปพร้อมๆ กันก็จริง แต่ถ้าขาข้างหนึ่งเหยียบขี้หมา
อีกข้าง ก็ไม่จำเป็นต้องเหยียบลงไปด้วย จริงมั้ย?
เรื่องเศรษฐกิจไทย ไม่ตาย แต่อยู่แบบซึมกระทือ
จะโทษรัฐบาล-ฝ่ายคลัง หรือโทษแบงก์ชาติ-ฝ่ายการเงิน ฝ่ายหนึ่ง-ฝ่ายใด คงไม่ใช่วิสัย “ชนชั้นปัญญา” บริหาร
เพราะมันมาจากหลายเหตุปัจจัย ที่จำเป็นต้องนำทุกระบบขึ้นขาหยั่ง “ส่องกล้อง-เอกซเรย์” ให้ละเอียดกันทุกจุดเป็น “ครั้งใหญ่”
นั่นแหละ จึงจะได้บทสรุปที่แน่ชัด ถึง “สาเหตุ” ที่เป็นจุดให้ไทยโตช้าที่สุดในอาเซียน!
อย่างที่รัฐบาลยก “เงินเฟ้อติดลบ” ต่อเนื่อง ๔ เดือน แล้วชี้ไปที่แบงก์ชาติว่าเป็นตัวการ ให้ลดดอกเบี้ย แล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้นนั้น
เห็นสันดานพวก “ดีใส่ตัว-ชั่วให้คนอื่น” ชัดเลย!
ผมขอพูดตามมุมมองบ้างว่า “รัฐบาลนั่นแหละ ทำหน้าที่ฝ่ายคลังเฮงซวย”
เศรษฐา ในฐานะ “รัฐมนตรีคลัง” ถามคำ ตั้งแต่เป็นมา เคยเข้ากระทรวงไปทำหน้าที่ซักครั้งหรือยัง?
ตัวเอง เป็นผู้บริหาร เมื่อเศรษฐกิจไทย รอตายหวังได้ แต่รอโตหวังยาก
ก่อนโทษคนอื่น ต้องสำรวจตรวจสอบงานในหน้าที่ตัวเองก่อนว่า จุดบกพร่องและปัญหามันอยู่ตรงไหน
รู้จุด รู้เหตุปัญหาแล้ว ก็แก้ตรงนั้นก่อน ไม่ใช่โวยวาย ใช้แต่เงินแก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและถาวร หรือสักแต่มีอำนาจก็ตวาดสั่งไปเรื่อย
ที่ว่า “ดอกเบี้ยนโยบายสูง คนไม่กู้ไปลงทุน แบงก์ชาติต้องลดดอกเบี้ยลงมาซัก .๕๐ หรือ .๒๕% เศรษฐกิจจะได้เดิน” นั้น
พูดง่าย แต่ไร้กึ๋น!
ฟัง “นายปิติ ดิษยทัต” เลขาฯกนง.แถลงเมื่อวานก่อนดีกว่า เขาแจกเหตุปัจจัยว่า
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี ๖๗ ขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต
เนื่องจาก “อุปสงค์โลก” และ “เศรษฐกิจจีน” ฟื้นตัวช้า
รวมถึงปัจจัย “เชิงโครงสร้าง” กระทบการขยายตัวการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้
แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ แนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ช้ากว่าที่ประเมินไว้
ประเมินว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่ง “ภาคต่างประเทศ” ที่น้อยลง
และผลกระทบจากปัจจัย “เชิงโครงสร้าง”
แต่ “การบริโภค” ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
คณะกรรมการฯ ด้วย ๕ ต่อ ๒ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ๒.๕๐%
ขณะที่กรรมการ ๒ ท่าน เห็นควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย ๐.๒๕%
กนง.ยึดภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
ประเมินว่า……..
การขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลง “เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ” และ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง”
ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน ยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่า…..
ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง
โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
อยากให้สังเกตุ กนง.เน้น ๒ คำ คือ คำว่า “อุปสงค์” และคำว่า “ปัจจัยเชิงโครงสร้าง”
อุปสงค์ หรือ Demand พูดง่ายๆ หมายถึง “กำลังซื้อ”
กนง.บอก “อุปสงค์โลก” มีผลต่อภาคการผลิต-การส่งออกของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลมาก
แต่กำลังซื้อภายในประเทศ ยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็น “ตัวหลัก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอนนี้ โดยเฉพาะจากภาคการบริโภค
ดอกเบี้ย ๒.๕๐% นั้น กนง.ย้ำ…..
“อยู่ในระดับสอดคล้องการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน เป็นรากฐานสำคัญในการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว”
คือไม่ได้เป็นตัวทำให้ “เงินเฟ้อติดลบ” เป็นเหตุให้รัฐบาลอ้าง “เศรษฐกิจวิกฤต” ต้อง “กู้มาแจก”
เพราะกู…ซึ่งหมายถึงใครก็ไม่รู้ ตุน “ดิจิทัล โทเคน” ไว้เยอะ จะระบายออกได้ ก็ตานี้ละวะ”!?
เพราะอย่างนี้ ๒ ใน ๔ ความเสี่ยงที่ปปช.เตือนให้สังวรณ์ ข้อที่ ๑ จึงมีว่า
-“ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต” อาทิ ความเสี่ยงต่อการ “ทุจริตเชิงนโยบาย” ความเสี่ยงต่อการ “ทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ” ข้อที่ ๔ มีว่า
-ประเด็นความเสี่ยง “เทคโนโลยีบล็อกเชน” และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนด “นโยบายของพรรคการเมือง”
ตรงที่ต้องแจกเป็น “ดิจิทัล โทเคน” คนสงสัยกันมาก ว่าไหนๆ จะแจก ก็แจกเป็นเงินสดเข้า “แอปเป๋าตัง” ไปโดยตรงเลยซี
จะต้องเป็นโทเคน ให้ยุ่งยาก-ซับซ้อนทำไม หรือรัฐบาลมีเลศนัย ซ่อนเบื้องหน้า-เบื้องหลังอะไรไว้ ตรงนี้ ผมเองตอบไม่ได้จริงๆ
แม้กระทั่งปปช.เอง ท่านก็คลางแคลงในประเด็นนี้ เห็นได้จาก ๓ ใน ๘ ข้อเสนอแนะที่ว่า
-การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ ผ่าน Digital Wallet
“ครม.และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม เพราะการลงทุนระบบ “แพงมาก”
ซ้ำเป็นโครงการแจกเงิน “เพียงครั้งเดียว” ใช้แค่ ๖ เดือน
-จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤต
ที่แบงก์ชาติรวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า
ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทย ยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะ “วิกฤตเศรษฐกิจ” เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น
ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อ “โครงสร้างทางเศรษฐกิจ”
เช่น กระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน กระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น
ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต
ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.๒๕๖๑ อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
-หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน ควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น
โดยแจกจากแหล่งเงิน “งบประมาณปกติ”
มิใช่เงินกู้ตาม “พระราชบัญญัติเงินกู้”
และจ่ายในรูป “เงินบาทปกติ” ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน
โดยกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบ “แอปเป๋าตัง” ที่มีประสิทธิภาพและมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว
การดำเนินการกรณีนี้…..
หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการ
“ขัดรัฐธรรมนูญ”
“ขัดพรบ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.๒๕๖๑”และ
“ขัดพรบ.เงินตรา พ.ศ.๒๕๐๑
ประการสำคัญ “ไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว”
คำเสนอแนะ ให้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แจกเป็นงวดๆ เข้าแอป “เป๋าตัง” ตรงนี้ ผมเห็นด้วย สนับสนุน ๑๐๐%
ประเด็นสำคัญ เป็น “การบ้าน” ข้อใหญ่ ที่รัฐบาล “ถ้าจริงใจบริหาร” ต้องนำไปคิด-ใคร่ครวญ
คือทั้งกนง.,ปปช.,แบงก์โลก และไอเอ็มเอฟ
ชี้ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซึมกระทือต่อเนื่องอยู่ประเทศเดียวในอาเซียน
มาจาก “ปัจจัย” เชิงโครงสร้าง”!
ไม่รู้จะเข้าใจ “ความกว้าง-ลึก” ของคำนี้กันแค่ไหน
แต่ขอใช้คำว่า…..
ต้องรื้อทั้ง “ระบบคิด-ระบบศึกษา-ระบบบริหาร-ระบบอุตสาหกรรม” ที่เป็น “โครงสร้างเดิม” ใหม่ทั้งหมด
ไปสู่ระบบ “วิจัย-พัฒนา-ทดลอง-คิดค้น-สร้างคน-ต่อยอด” สู่ทัศนคติมิติ “ประเทศนี้…ไม่มีโรงเรียน”
“โลก” คือ “โรงเรียน” เป็นห้องค้นคว้า-ศึกษา-ทดลอง ไม่ใช่สถานที่ท่องทำ!
ทุกวันนี้ ยาเสพติด คอร์รัปชั่นและเทคโนโลยีไอที คนไทยใช้ทำลายตัวเอง ทำลายเศรษฐกิจและอนาคตชาติบ้านเมืองตัวเอง
“ทรัพยากรบุคคลทางสร้างชาติ-สร้างอนาคต” แทบไม่ได้สร้าง สู่ขั้นวิกฤตยิ่งกว่าเศรษฐกิจที่พูดกันตอนนี้
เราภูมิใจ ไทยเป็นเอกราช
แต่รู้ได้เถอะ เราตกเป็นทาสยุคใหม่ประเทศเดียวในอาเซียนตอนนี้แล้วยังไม่รู้ตัว
ขณะที่หลายประเทศในอาเซียน ใช้ไอทีเป็นเครื่องมือสร้างคนไปพัฒนาชาติ จนจีดีพีโตได้ปีละ ๕% ขึ้นไป
แต่คนไทย ใช้ไอทีแบบ “ตกเป็นทาส”
รัฐบาลก็ยังกลวงโบ๋ ถึงขั้นไม่สำนึกในคำว่า
ไทยถึงจุดติดกับดักปัญหา “เชิงโครงสร้าง” ประเทศแล้ว!
เปลว สีเงิน
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗