พระพุทธรูป “จีนล่ำซำ” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

หายไปหลายวัน ขออภัยด้วย
หากท่านคิดถึงผม ก็คงน้อยกว่าผมคิดถึงท่านละน่า
เพราะทุกท่าน “อยู่ดี-มีแฮง”
ส่วนผมนี่ซี…ไปขึ้นเขียงนอนตะแคงให้หมอเจี๋ยน!

ยาแก้ภูมิแพ้ ยาแก้หวัด แก้น้ำมูก-น้ำตาไหลนี่ ใครก็อย่าเที่ยวซื้อกินเองไปเรื่อยเชียวนะ เดี่ยวจะเป็นเหมือนผม
เพราะมันไม่เพียงทำให้น้ำมูก-น้ำตาหยุดไหลเท่านั้น ปัสสาวะมันพลอยหยุดไหลไปด้วย

เมื่อก๊อกตัน เรื่องไม่เป็นเรื่อง มันก็เลยกลายเป็นเรื่อง ถึงขั้นต้องจัดระบบวางท่อใหม่ ไฉไลกว่าเดิม

ต่อจากนี้ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก ปลอดโรค ไปโลด มีแต่รวย ได้เป็นเจ้าสัวกับเขาบ้างละ

เพราะ “คุณภูมิชาย ล่ำซำ” นำความเป็นสิริมงคลใหญ่มาบอกว่า วันอังคารที่ ๑๒ ธันวา.นี้
จะประกอบพิธี เททองหล่อ พระ “จีนล่ำซำ” ณ มณฑลพิธี “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม”

มี “สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” เป็นองค์ประธานในพิธีพุทธมนต์ เททองหล่อ

คุณภูมิชายเชิญผมไปร่วมพิธีด้วย ตอนเที่ยงวันพรุ่งนี้
ก็สาธุ… “เอตัมมังคละมุตตะมัง”

เป็นมงคลประเสริฐสูงสุดที่ได้รับ เพราะผมเป็นคนนอกตระกูล “ล่ำซำ” แต่คุณภูมิชายก็ยังให้เกียรติเชิญ

การหล่อพระ “จีนล่ำซำ” นี้ คุณภูมิชายบอกว่า
สร้างเป็น “พระประจำตระกูล” สำหรับคนแวดวงล่ำซำโดยเฉพาะ เพื่อนำไปบูชากราบไหว้ รำลึกถึงบรรพบุรุษผู้เป็น “ต้นตระกูล” ล่ำซำ
คือท่าน “อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน”

ผู้ “กตัญญู-รู้คุณแผ่นดิน” ทั้งใจบุญจน “ล่ำซำ” ได้ชื่อว่าเป็นตระกูล “สายเลือดข้น-คนกตัญญู” สืบถึงลูกหลาน “รุ่นต่อรุ่น” ตราบปัจจุบัน

“ล่ำซำ” ดำรงสืบกันมา ๕ รุ่นแล้ว ปัจจุบัน เป็นล่ำซำ “รุ่นที่ ๕” โดยนับจาก…..

“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” “ล่ำซำ” ต้นตระกูล เป็นรุ่นที่ ๑
“อึ้งยุกหลง” บุตรชายท่าน เป็น “ล่ำซำ” รุ่นที่ ๒
“โชติ-จุลินทร์-เกษม” สามทายาท เป็น “ล่ำซำ” รุ่นที่ ๓

“บัญชา” ทายาทคนโตโชติ เป็น “ล่ำซำ” รุ่นที่ ๔ และ
“โพธิพงษ์” -ทายาทจุลินทร์, “บัณฑูร” -ทายาทบัญชาเป็น “ล่ำซำ” รุ่นที่ ๕

“มาดามแป้ง-นวลพรรณ” กับ “สาระ” และอีกหลายพี่น้องร่วมตระกูล จะเป็น “ล่ำซำ” สืบรุ่น-สู่รุ่น รักษาข้นแห่งสายเลือดเข้ม คงทน สืบๆ ต่อกันไป

อีกคุณสมบัติที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า “อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” ผู้ต้นตระกูล นั้น

มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์มาก ที่ทรงเมตตาชุบเลี้ยงชาวจีนที่หอบเสื่อผืน-หมอนใบเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

โดยมิทรงรังเกียจว่าเป็น “คนจรหมอนหมิ่น” พเนจรเข้ามาพึ่งแผ่นดินแต่อย่างใด

ด้วยสำนึกในบุญคุณแผ่นดินและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์นั้น
ในการที่ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้าง “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม”

“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” ในฐานะพ่อค้าไม้ซุง มีจิตยินดีในพระราชศรัทธาต่อการสร้างวัด
ได้น้อมเกล้าฯ ถวายไม้สักซุงเพื่อการสร้างวัดเบญจมบพิตรฯ ด้วย

ตามเอกสารบันทึกส่วนหนึ่งในประวัติการสร้างวัดเบญจมบพิตรฯ อ่านกันดู ผมจะคงศัพท์เดิมไว้
อ่านแล้วจะทราบว่า สกุล “ล่ำซำ” นั้น เป็นมาอย่างไร?
………………………………

ที่ ๑๗๕/๖๑๒ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๓๓ ๑๑๔

ทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ

ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า ตามความในหนังสือท่านที่ ๙๗/๒๗๓๖ ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ กราบบังคมทูลพระกรุณา เรื่องเจ้าสุริยพงษผริตเดช พร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานนครเมืองน่านแลเมืองแพร่ ขอพระราชทานถวายไม้ขอนสักช่วยในการพระราชกุศลสร้างวัดเบญจมบพิตร รวมเปนไม้ ๒๒๕ ต้น แลจะได้ส่งลงมาในรดูน้ำปีนี้นั้น ให้ท่านตอบอนุโมทนาแลขอบใจไป

สมมตอมรพันธุ์
(ร.๕ศ.๖:๕๘/๕๒)

วันที่ ๑๒ สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๓๓ ๑๑๙
ข้าพระพุทธเจ้า จีนล่ำซำ ตั้งบ้านเรือนอยู่ถนนเจริญกรุง ขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศขึ้นน้อมเกล้า ถวายคำนับกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า

ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้เข้ามาพึ่งพระบรมโภธิสมภาร อยู่ในกรุงสยามช้านานประมาณ ๒๐ปีเศษ ข้าพระพุทธเจ้าได้ประกอบการเลี้ยงชีพด้วยทางพานิชกรรม มีความวัฒนาเจริญขึ้นพอเปนกำลังเลี้ยงบุตรภรรยาของข้าพระพุทธเจ้า

โดยทรงพระมหากรุณาปกครองข้าพระพุทธเจ้าเปนอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้ามีความละฦกในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเปนล้นเกล้า หารู้ที่จะฉลองพระเดชพระคุณอย่างหนึ่งอย่างใดได้ไม่ เปนจนด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้า ว่า ทรงพระราชศัทธา สฐาปนาพระอารามวัดเบญจมะบพิตร ซึ่งไกล้กับวังสวนดุสิตขึ้นอิกพระอารามหนึ่งจะต้องจำหน่ายพระราชทรัพย์ซื้อไม้ขอนสัก สฐาปนาพระอารามนี้เปนอันมาก โดยพระราชศัทธาเปนอย่างยิ่ง

ข้าพระพุทธเจ้ามีความสวามิภักดิ์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงจัดได้ไม้ขอนสักถวายด้วยความยินดี เพื่อได้เพิ่มพระราชศัทธา มีรายกำวาติดมาในท้ายหนังสือที่ทูลเกล้า ถวายด้วยแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า, ขอเดชะ
(พระราชกระแส)

ให้กรมหมื่นสมมต ส่งบาญชีรายกำรายวาไปให้เจ้าหมื่นเสมอใจ (แถลงราชกิจจาตามเคย) ไม้ในการทำวัดเบญจมบพิตรนี้ น่าจะมากกว่างานวัด ควรคิดเปนราคาขายให้แก่งานพระที่นั่ง เงินที่พระที่นั่งจะซื้อไม้รายนี้ ควรจะเอาไปจำหน่ายใช้เปนค่าอิฐค่าปูนในการทำวัด เหนจะเปนการไม่มีโทษอันใด
[ร.๕ ศ.๖:๕๘/๕๙-๖๐]

ที่ ๘๙/๗๔๗ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ ๑๓ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙

แจ้งความแก่ เจ้าหมื่นเสมอใจราช

ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า จีนล่ำซำทำหนังสือทูลเกล้าถวายไม้ขอนสักรวม ๑๖๐ ต้น เปนการฉลองพระเดชพระคุณช่วยในการที่ทรงสถาปนาวัดเบ็ญจมบพิตร์ มีขนาดพิกัดรายกำรายวา แจ้งอยู่ในบาญชีที่ส่งมาให้ด้วยแล้ว
ไม้ขอนสักที่มีผู้ถวายช่วยในการวัดเบ็ญจมบพิตร์นี้ ทรงพระราชดำริห์เหนว่า น่าจะมากกว่างานวัด ถ้าหากว่าเหลือจากการวัด ควรคิดเปนราคาขายให้แก่งานพระที่นั่ง เงินพระที่นั่งจะซื้อไม้รายนี้ ควรจะเอาไปจำหน่ายใช้เปนค่าอิฐค่าปูนในการทำวัด

สมมตอมรพันธุ์
——————————-

“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” เป็นจีนแคะ จากมณฑลกวางตุ้ง ลอยเรือจากโพ้นทะเลเข้ามาไทยยุคต้นรัชาลที่ ๕ ตั้งแต่อายุ ๑๓ ขวบ

ยุคนั้น ยังไม่มีการใช้นามสกุล มีเพียงชื่อเรียกเท่านั้น

เมื่อ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ปรากฎตามหนังสือนั้นว่า “จีนล่ำซำ”

“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” จากตระกูลอึ้ง จึงเป็นชื่อ “จีนล่ำซำ” นับแต่นั้น และน้อมนำเป็นมงคลแห่งตระกูล “ล่ำซำ” ในรุ่นต่อมา

จากค้าไม้ ขยายธุรกิจไปหลายแขนง บุกเบิกตลาดต่างประเทศไปทั่วโลก คือทั้งเอเชีย-ยุโรป
จากเสื่อผืน-หมอนใบ เป็นเจ้าสัวใหญ่ ด้วยเป็นคนใจบุญเป็นทุน เมื่อร่ำรวย ก็แบ่งปันสู่สังคม

เช่น ชักชวนชาวจีน ๕ กลุ่ม กวางตุ้ง, ฮกเกี้ยน, แต้จิ๋ว, ไหหลำ และแคะ สร้าง “โรงพยาบาลเทียนฟ้า” เป็นต้น

ในวิกิพีเดีย กล่าวถึงตระกูลล่ำซำไว้อีกแง่มุมหนึ่ง ว่า

คำว่า “ล่ำซำ” เป็นนามแฝงที่อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนคิดขึ้นมาจากภูมิหลังตอนอยู่ในประเทศจีน

ขณะเดินทางคนเดียว พบกลุ่มโจร โดยหัวหน้าโจรถามว่า “คนใส่เสื้อสีน้ำเงินคนนั้นเป็นบุตรคนที่สามของตระกูลอึ้งใช่ไหม?”

เขาตอบว่า “ใช่” หัวหน้าโจรจึงบอกแก่กลุ่มโจรว่า
“ล่ำซำ คนนี้ ได้ทำบุญทำทานสงสารคนจน…ให้เขาไปโดยดีเถิด”

ทำให้อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนนำชื่อโจรเรียกมาใช้เป็นสัญลักษณ์นำโชค

โดยคำว่า ล่ำ(藍)หมายถึง “สีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นสีเสื้อที่เขาใส่ในเหตุการณ์นั้น และ ซำ อาจสื่อถึง “เสื้อ” (衫) หรือ “สาม” (三) จากการที่เขาเป็นลูกชายคนที่สาม

และสมาชิกตระกูลของเขา ตั้งแต่รุ่นที่สามเป็นต้นมา ใช้สกุลนี้ เป็นนามสกุลไทย คำว่า “ล่ำซำ” มีความหมายในภาษาพูดว่า “รวย”

จะว่าไปแล้ว ในภาษาอังกฤษก็มี lump sum หมายถึง “เงินก้อนใหญ่”

ส่วนในภาษาไทย เป็นที่ทราบกัน ใครมีเงิน ก็จะเรียกกันว่า “คนนี้…ล่ำซำ”

ย้อนกลับมาถึงเหตุหล่อพระ “จีนล่ำซำ” เป็นพระประจำตระกูล

คุณภูมิชายเล่าว่า เคยทราบว่าคุณทวดคือ “จีนล่ำซำ” ได้สร้างพระพุทธรูปถวายวัดเบญจมบพิตรฯไว้ด้วย แต่จำไม่ได้ว่าเป็นองค์ไหน ?

กระทั่งไปปรารภกับพระคุณเจ้ารูปหนึ่งที่วัดเบญจมพิบตรฯ ท่านจึงพาไปดู พระพุทธรูปสำริดองค์หนึ่ง ประทับขัดสมาธิแบบอินเดีย

ยกพระขึ้นดู ก็ดีใจมาก…เพราะใช่แล้ว มีอักษรว่า “จีนล่ำซำหล่อถวาย” ปรากฎอยู่ใต้ฐาน!

ด้วยความเป็นลูกหลานกตัญญู จึงชักชวนญาติพี่น้องสายเลือดล่ำซำ หล่อพระ “จีนล่ำซำ” เป็นพระพุทธรูปประจำตระกูลขึ้น

มิใช่เพื่อการพาณิชย์หรือแจกจ่ายทั่วไปแต่อย่างใด

เอาละครับ….
ออกโรงพยาบาลแล้วได้เข้าพิธีเจริญพระพุทธมนต์เททองหล่อพระ “จีนล่ำซำ” เป็นนิมิตหมาย “ชีวิตใหม่” กำลังเริ่มต้น
ฉะนั้น ใครก็อย่ามาคิดชนกะผมเชียวนะ!

เปลว สีเงิน
๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๖

 

Written By
More from plew
มันจะอะไรกันนักหนา- เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ช่วงนี้ มีแต่คนนับนิ้วมือ….. วันนี้ ๒๖ พรุ่งนี้ ๒๗…๒๘…๒๙ และก็ ศุกรที่ ๓๐ กันยา.
Read More
0 replies on “พระพุทธรูป “จีนล่ำซำ” – เปลว สีเงิน”