ผักกาดหอม
มาแรงครับ….
กระเช้าภูกระดึง เสนอขึ้นมาทีไร ได้คอแห้งกันทุกที
เพราะเสียงค้านมีเยอะ เสียงสนับสนุนก็มีไม่น้อย
จนไม่อาจสรุปได้ว่าสร้างหรือไม่สร้างดี
ว่าไปแล้วก็มีเหตุผลทั้ง ๒ ฝ่าย
แต่มันก็ไม่ลงตัวที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในเหตุผลตัวเองมากเกินไป จนละเลยเหตุผลของอีกฝ่าย
ความเห็นต่างทางการเมือง ยังพอมีที่จบ นั่นคือการเลือกตั้ง แต่การสร้างหรือไม่สร้างกระเช้าภูกระดึง หาที่จบยากจริงๆ
หรือต้องทำประชามติ!
ฟังเหตุผลของรัฐบาลแล้วก็น่าตกใจ เพราะมาในแนวให้เสียงส่วนใหญ่ข่มไว้ก่อน โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ของ “พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“…ขณะนี้มีหลายหน่วยงานทั้งภาคการท่องเที่ยว อำเภอ จังหวัด และสมาคมพ่อค้าแม่ค้าออกมาสนับสนุน อยากให้มีกระเช้าขึ้นภูกระดึงโดยเรามีแนวทางต้องส่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงต้องออกแบบก่อน แม้จะมีหลายหน่วยงานสอบถามมา แต่ดิฉันอยากให้ทางจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดไปติดตามเรื่องงบประมาณเพื่อส่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต่อไป
เรื่องนี้ดิฉันเคยผลักดันให้มีกระเช้าขึ้นภูกระดึงตั้งแต่เป็น สส.สมัยแรก เมื่อปี ๒๕๓๙ แต่มีผู้ต่อต้านมาเรื่อยๆ แต่ยุคนี้เศรษฐกิจตกต่ำ ยอดคนขึ้นภูกระดึงน้อยลง จึงอยากให้มีกระเช้าเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งจะมีทั้ง ๒ แนวทาง คือ กระเช้ากับการเดินขึ้น ทำให้ลูกหาบมีรายได้ต่อไป สิ่งสำคัญที่สุด เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.เลย ภูกระดึง น่าจะเป็นจุดดึงดูดได้มาก…”
หากจะเอาเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง ก็ระวังความฉิบหายจะบังเกิด
รัฐมนตรีไม่ควรด่วนสรุปว่าต้องสร้างแน่ๆ อ้างว่าประชาชนในพื้นที่สนับสนุน ในขณะที่ยังไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การพูดแบบนี้เท่ากับไม่ให้ความสำคัญกับการทำอีไอเอ ทั้งที่เป็นหัวใจหลักที่จะป้องกันผลกระทบทุกด้านที่เกิดขึ้นจากการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
เพราะหาก อีไอเอ ไม่ผ่านขึ้นมา “พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” จะไปบอกกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกกระตุ้นด้วยตัวเลขเรื่องเงินทองอย่างไร
ฉะนั้นต้องทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ครับ มันจะคลายข้อกังวลให้กับทุกฝ่ายได้
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้าน ต้องสนับสนุนให้ทำ ซึ่งมีกฎหมายบังคับใช้ชัดเจนอยู่แล้ว
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๑
มาตรา ๓ ให้แก้ไขคําว่า “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็น “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ทุกแห่ง ดังนั้น ต่อไปนี้ “ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” จะเป็น “ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม”
มาตรา ๔๖ “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า กระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากการดําเนินโครงการหรือกิจการ หรือการดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้มีการดําเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกําหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ผลการศึกษา เรียกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
“อนุญาต” หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐยินยอมให้บุคคลใดกระทําการใด ที่มีกฎหมายกําหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อนกระทําการนั้น และให้หมายความรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร และการให้อาชญาบัตรด้วย
จะเห็นว่ามีข้อต้องปฏิบัติตามกฎหมายมากพอสมควร
การตัดผ่านเขตลุ่มน้ำชั้น 1 A และ 1 B ก่อนใช้ประโยชน์ต้องทำเรื่องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี และจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
จะได้รู้ว่าต้องตัดต้นไม้กี่ต้น
จุดขึ้นลงอยู่ตรงไหน
ชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบหรือเปล่า
ที่ผ่านมาแม้จะมีผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ มาต่อเนื่องหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
การพัฒนากับการอนุรักษ์ ดูเหมือนเส้นขนาน แต่หากพัฒนาอย่างเข้าใจก็เท่ากับอนุรักษ์ไปในตัว
ต้องยอมรับครับว่าปัจจุบันหลายประเทศต่างก็สร้างกระเช้าขึ้นไปยังสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก หลายที่ประสบความสำเร็จ ได้ทั้งพัฒนาและอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน
แต่หลายๆ แห่งก็ล้มเหลว เพราะระบบการบริหารจัดการที่ไม่ดี
กลายเป็นการทำลายธรรมชาติ
ฉะนั้นสุดท้ายแล้วก็คนนี่แหละครับที่จะเป็นตัวกำหนดว่า การมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะพังธรรมชาติ หรือจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
ในโลกยุคคนเท่ากัน ก็เป็นอีกข้อถกเถียงว่า สมควรสร้างหรือไม่สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
อย่างความเห็นของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ก็ต้องฟังเหมือนกัน
“…นอกจากหนุ่มสาว คนร่างกายแข็งแรงแล้ว คนแก่ คนพิการก็มีโอกาสได้ชื่นชมความน่าอภิรมย์ของภูกระดึง การมีกระเช้าขึ้นภูกระดึง เป็นการให้ทางเลือกแก่นักท่องเที่ยว ใครใคร่เดินเพื่อการผจญภัยและความตื่นเต้นก็เดินขึ้น ไม่ผิดกติกา ใครที่ต้องการความสะดวก (แม้จะเดินไหว) และคนเดินไม่ไหว ก็ขึ้นกระเช้าไป สถานที่ท่องเที่ยวสูงๆ ในหลายประเทศ ก็มีทางเลือกให้นักท่องเที่ยวเช่นนี้…”
ในมุมนี้น่าสนใจมากทีเดียว การเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวต้องเท่าเทียมกันสำหรับคนทุกเพศทุกวัยหรือไม่
หรือมีไว้เฉพาะคนที่ปีนไหวเท่านั้น
เสียดายครับ เจ้าของวาทกรรม “คนเท่ากัน” อย่างพรรคก้าวไกล ยังไม่มีใครออกมาแสดงความเห็นเรื่องกระเช้าภูกระดึง ในฐานะฝ่ายค้านที่ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเลย
ในมุม “ศศิน เฉลิมลาภ” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ในฐานะนักอนุรักษ์ต่างก็ห่วงเรื่องมีคนเข้าใช้พื้นที่มากเกินไป สุดท้ายคือพัง ดูภูทับเบิกเป็นตัวอย่าง เละตุ้มเป๊ะ สิ่งปลูกสร้างเต็มไปหมด กลายเป็นภาพอุจาดตา
แต่อย่างที่บอก เรื่องนี้แก้ไขได้ด้วยการบริหารจัดการ
เพียงแต่ลักษณะนิสัยของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเรื่องผลประโยชน์ หรือเช้าชามเย็นสามชาม มันสร้างปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้เสมอ
เมื่อละเลยที่จะแก้ปัญหาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ การมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงก็เละแบบภูทับเบิกได้เช่นกัน
พูดไปมันก็เหมือนกรณีมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่มี อะไรดีกว่ากัน
ก็พบว่าสิ่งที่กลัวกันคือ คุณภาพของคน
กลัวว่าโดยนิสัยคนไทย แทนที่จะได้ประโยชน์กลับเป็นโทษมากกว่า
สรุปแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่กระเช้า
แต่คนนี่แหละครับคือปัญหาใหญ่