แก้ปัญหาน้ำ ! “อนุทิน” สานต่อ “ฝายแกนดินซีเมนต์” กักเก็บน้ำ พื้นที่นอกเขตชลประทาน

20 พฤศจิกายน 2566 อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง วาระแห่งชาติ : นโยบายแก้จนของประเทศไทย ในงานสัมมนา “การแก้ปัญหาความยากจน วิถีสู่ความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี” ใจความตอนหนึ่งว่า

ประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบชลประทานมายาวนาน ที่ผ่านมา การพัฒนาแหล่งน้ำ มักเน้นการสร้างโครงการขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรได้ครบ อีกทั้งยังใช้งบประมาณมากและใช้เวลาก่อสร้างนานเกินไป ไม่ทันกับความต้องการในการแก้ไขปัญหาจากภัยแล้งให้กับประชาชน

ปัญหาของประเทศไทย ไม่ได้อยู่ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยเกินไป แต่อยู่ที่ความสามารถของเครื่องมือที่จะกักเก็บน้ำฝน มีประสิทธิภาพน้อยเกินไป เพราะฉะนั้น การสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นทางออกที่สามารถตอบโจทย์เรื่องความต้องการใช้น้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรของประชาชนในทุกพื้นที่ได้

นวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ ที่ทาง รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ (ประธานคณะกรรมาธิการ การแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภา) และคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการหนุนนำ จนกลายมาเป็นหนึ่งในนโยบายแก้จนของประเทศไทย ในวันนี้

ฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นเครื่องมือกักเก็บน้ำขนาดเล็กที่สามารถออกแบบการกักเก็บน้ำในแต่ละพื้นที่ ได้ตรงตามความต้องการของชุมชนเกษตรกร ได้มากกว่าเครื่องมือกักเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่สำคัญที่สุดคือ สามารถสร้างเสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วโดยใช้ระยะเวลาเพียง 5 – 15 วัน แม้ฝายแกนดินซีเมนต์จะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าสามารถสร้างเป็นจำนวนมากได้ เราจะสามารถออกแบบให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอ

ฝายแกนดินซีเมนต์นี้ เป็นทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านสังคม สร้างจากการใช้ดินในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการทำฝาย ทำให้ต้นทุนการสร้างฝายต่ำ สามารถสร้างเสร็จได้ไว สร้างเสร็จแล้วประชาชนได้ใช้น้ำทันทีตั้งแต่วันแรก และที่สำคัญ คนในชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในการก่อสร้าง และซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งครับ กับหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

ทราบว่า ฝายแกนดินซีเมนต์ตัวแรกถูกสร้างเมื่อปี 2558 โดยองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ จนถึงวันนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าฝายแกนดินซีเมนต์ จะเป็นคำตอบสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน ได้รับการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์จากคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งถือว่าเป็นความกรุณาและเป็นประโยชน์ยิ่ง และผมก็เห็นพ้องกับท่านว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรรับหน้าที่ในการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อสร้างฝายต่อไป

“และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด สั่งการให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีแบบมาตรฐานฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่งออกแบบโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองแนบส่งทุกจังหวัดแล้วด้วย”

Written By
More from pp
ภท.แจงข้อกล่าวหา “ชูวิทย์” ไม่เป็นจริง ทั้งที่ ลำพูน เขียนไลน์มาขอเงิน แต่พรรคไม่เคยส่งให้ และ กรณีสระแก้ว เป็นทีมงาน ช่วย เลือกตั้ง แต่ส่งรูปนอนป่วย และขอยืมเงิน จึงช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ไม่ใช่การซื้อเสียง เตรียมดำเนินคดีชูวิทย์ อีกระลอก
นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิก พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับข้อความไลน์ ผู้สมัคร...
Read More
0 replies on “แก้ปัญหาน้ำ ! “อนุทิน” สานต่อ “ฝายแกนดินซีเมนต์” กักเก็บน้ำ พื้นที่นอกเขตชลประทาน”