มาเงียบๆ แต่น่ากลัว – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ย่องมาแบบไม่มีใครสนใจ

ระวัง! จะพังกันเป็นแถบ

เห็นนายกฯ กับคณะนั่งตาหวานเป็นน้ำเชื่อม เชียร์ให้ มงลง “แอนโทเนีย โพซิ้ว” นางงามลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก

กะจะส่งออกเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์”

ก็น่าเสียดายครับ คว้าเพียงรองอันดับ ๑ Miss Universe 2023 ไปครอง

แต่ไม่จำเป็นต้องเสียใจ นายกฯ เศรษฐามาเอง รับปากจะไปปรึกษากับรองประธานซอฟต์เพาเวอร์ว่าจะทำงานร่วมกับรองมิสยูนิเวิร์สอย่างไรบ้างเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติได้

ดีงามครับ!

ระหว่างที่ปลาบปลื้มกับสิ่งสวยงามอยู่นี้ อย่าลืมหันไปมองสิ่งอัปลักษณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่าเพลิดเพลินจนหลวมตัวตกเป็นเหยื่อพวก demo-crazy เป็นอันขาด

ระหว่างนี้ความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ยังคงดำเนินอยู่อย่างเงียบๆ

เงียบมากจนประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ทันสังเกตเห็น

ทบทวนเรื่องราวกันสักเล็กน้อย…

เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

เรียกสั้นๆ ว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ

กรรมการชุดนี้มีจำนวนทั้งหมด ๓๔ คน มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” เป็นประธาน

แต่ก้าวไกลปฏิเสธที่จะร่วมสังฆกรรม เพราะรัฐบาลยืนยันว่า การทำประชามติก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องไม่แตะต้องหมวด ๑ บททั่วไป และหมวด ๒ พระมหากษัตริย์

รวมถึงไม่แตะต้องบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจที่แทรกอยู่ในหมวดอื่นๆ

มันเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อ “นิกร จํานง” โฆษกคณะกรรมการ และยังเป็นประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ให้ข่าวว่า ภายในคณะอนุกรรมการได้หารือกันว่าการทำประชามตินั้นมีปัญหาที่จะทำให้ผ่านไม่ได้

เพราะต้องมีเสียงข้างมาก ๒ ระดับ คือ
๑.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทําประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด คือประมาณ ๒๖ ล้านคน

๒.ใน ๒๖ ล้านคนนี้ จะต้องเห็นด้วยว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กว่า ๑๓ ล้านคน ซึ่งคิดว่าทําได้ยากมาก

“…เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว น่าจะทำประชาสัมพันธ์กันไม่ทัน อีกทั้งความเห็นต่างก็ไม่เยอะ คนที่ไม่เห็นด้วยมีไม่มากนัก แรงส่งที่จะทําให้มีคนออกมาใช้สิทธิ์น่าจะน้อย จึงเห็นว่าอาจมีปัญหา และถ้าหากประชามติไม่ผ่านขึ้นมา ก็จะกลายเป็นว่าคนไทยไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่จริงไม่ใช่แบบนั้น

ดังนั้นจะต้องมีการหารือกันในคณะกรรมการ ซึ่งผมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนนี้…”

ในมุมของคนอยากแก้รัฐธรรมนูญ แน่นอนครับกรณีนี้ถือเป็นอุปสรรค

แต่ในมุมคนที่ไม่เห็นด้วยว่าจะมาแก้รัฐธรรมนูญกันง่ายๆ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง!

รัฐธรรมนูญควรแก้ไขยากใช่หรือไม่?

หรือจะแก้กันตามอัธยาศัย ใครใคร่แก้ก็แก้

พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๑๓ บัญญัติว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ก็บังคับไว้เป็น ๒ ขยัก จุดประสงค์คือ เพื่อไม่ให้เรื่องที่ทำประชามตินั้นถูกแก้ไขง่ายเกินไป

โดยนัยคือ การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอย่างน้อยก็กึ่งหนึ่ง ถ้าไม่ถึงครึ่งอาจนำไปสู่หายนะได้

ประเด็นนี้มีการส่งเสียงจากพรรคก้าวไกลมาก่อนแล้ว

เป้าหมายของพรรคก้าวไกลก็อย่างที่ทราบกัน ต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ

และรื้อทุกหมวด ทุกมาตรา

การให้เหตุผลว่าต้องแก้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๑๓ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ “นิกร จำนง” แต่มีทัศนคติที่มีปัญหากว่า

“ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ให้เหตุผลที่ฟังแล้วมิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

เหมือนเด็กถูกแย่งของเล่นมากกว่า

“…กฎหมายประชามติ ที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก ๒ ชั้น หรือ Double Majority ที่บัญญัติในมาตรา ๑๓ ของ พ.ร.บ.ประชามติที่อาจไม่เป็นธรรม ต่อการทำประชามติในทุกหัวข้อ ซึ่งเกณฑ์ชั้นที่ ๑ คือจะต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ส่วนชั้นที่ ๒ คือ ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงหากคนที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถาม

แทนที่จะออกมาใช้สิทธิ์แต่ใช้วิธีนอนอยู่บ้าน เพื่อคว่ำประชามติแทน และหากบวกกับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ก็จะไม่ถึงเกณฑ์ เสียงข้างมาก ชั้นแรก ก็จะทำให้ตกไป…”

ทัศนคติแบบนี้…คิดหนักเหมือนกัน

ดูถูกประชาชนมากไปหน่อย

เหมือนพยายามกำกับ หรือตีกรอบประชาชนให้ลงประชามติในแบบที่ตัวเองต้องการ

อย่างที่ทราบกันเป็นหลักสากล การใช้สิทธิออกเสียง ไม่ว่าเลือกตั้ง หรือลงประชามติ มิได้มีเพียงการออกไปกาว่าใช่ หรือไม่ใช่

การแสดงความไม่พอใจด้วยการไม่ออกไปใช้สิทธิ์ก็ถือเป็นการออกเสียงอย่างหนึ่ง

การบอยคอตการเลือกตั้ง ก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เล็งเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

แทนที่จะมาโทษว่าประชาชนไปใช้สิทธิ์ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด นักการเมืองที่อยากจะเปลี่ยนประเทศก็ควรรณรงค์กับประชาชนว่า จะเปลี่ยนประเทศอย่างไร

จะเก็บอะไรไว้

หรือทิ้งอะไร

หากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเห็นด้วยว่าควรแก้ มันก็ต้องแก้ เพราะประชาชนเป็นใหญ่กว่าใครในแผ่นดิน

แต่หากไปรื้อกฎหมายให้ประชาชนเสียงข้างมากในการโหวต ที่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศชี้นำการเปลี่ยนแปลง ประเทศจะสงบสุขยากครับ

ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ผ่านประชามติของประชาชน มันต้องเป็นประชามติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เสียงของพวกตัวเอง

ฉะนั้นหากเริ่มต้นด้วยการทลายกำแพงให้ย่อยยับ

บ้านก็ไม่เหลือให้อยู่อาศัยครับ

Written By
More from pp
10ล้านกรมธรรม์โควิดระทึก! ลุ้นศาลปค.ชี้ชะตากรณี ”อาคเนย์-ไทยประกันภัย” ฟ้องคปภ.
รายงานข่าว แจ้งว่า ในวันที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ...
Read More
0 replies on “มาเงียบๆ แต่น่ากลัว – ผักกาดหอม”