ผักกาดหอม
เห็นทีไม่น่าจะรอด
ที่จริงเมื่อเดือนกันยายนมานี้เอง นายกฯ เศรษฐา แถลงข่าวยืนยันว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำได้อย่างแน่นอนและไม่มีการกู้เงิน
ชัดๆ นะครับ “ไม่มีการกู้เงิน”
๒ เดือนให้หลังกลับบอกว่าต้องกู้
เงินไม่ใช่บาทสองบาทนะครับ เม็ดเงินมหาศาลถึงกว่า ๕ แสนล้านบาท ทำไมเปลี่ยนความคิดกันง่ายจัง
ตอนบอกว่าไม่กู้มีเหตุผลอะไรรองรับ
แล้วที่ต้องกู้เพราะอะไร
แค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวรัฐบาลยังสร้างความชัดเจนไม่ได้เลย
นี่มันคือนโยบายประชานิยมไปตายเอาดาบหน้าชัดๆ
แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเพียงนโยบายที่ใช้หาเสียง โดยไม่มีการศึกษาใดๆ รองรับ นี่มันยิ่งกว่าผลาญงบประมาณแผ่นดินไปกับโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เสียอีก
อยากเตือนไปถึงพรรคเพื่อไทย หากยังมีความดีหลงเหลืออยู่ เลิก หรือปรับโครงการเสียใหม่
ถ้าอยากจะแจกจริงๆ เอานโยบายคนละครึ่งของรัฐบาลลุงตู่ไปทำต่อ ใช้เงินไม่ต้องมาก หลักหมื่นล้านต้นๆ
ที่สำคัญไม่ต้องกู้
ไม่ต้องมีปัญหาทางกฎหมายตามมาทีหลัง
แต่หากไม่มีความดีหลงเหลืออยู่แล้ว อยากให้ประเทศฉิบหาย คนไทยต้องแบกหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น ก็เดินหน้าใช้เงินกว่า ๕ แสนล้านแจกต่อไป
หากในหัวสมองว่างเปล่า ไม่มีความคิดอะไรหลงเหลืออยู่จริงๆ นอกจากขี้เลื่อย ก็แค่กลับไปดูคำพูดที่ตัวเองเคยด่ารัฐบาลลุงตู่ไว้
ที่บอกว่าเก่งแต่กู้ กู้มาโกง ลูกหลานใช้หนี้ไม่มีวันหมด กู้สิ้นชาติ ณ ตอนนั้นทำไมถึงคิดแบบนั้น
ตอนนี้คิดแบบไหนถึงได้เชื่องกันหมด
กู้กว่า ๕ แสนล้าน ไม่มีโกง ประชาชนไม่ต้องใช้หนี้อย่างนั้นหรือ
แล้วมีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร
“พิชัย นริพทะพันธุ์” ตอนนี้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็น รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย หายหัวไปไหน
วันก่อนด่ารัฐบาลลุงตู่ กู้เยอะ ตรวจสอบยาก ไม่มีกรอบการใช้เงินที่ชัดเจน อาจมีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตได้
ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งสูงขึ้นเกิน ๙ ล้านล้านบาท และจะเกิน ๖๐% ของจีดีพี
ด่าแม้กระทั่งงบสำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่นำไปใช้ในโครงการชื่อแปลกๆ เช่น โครงการเลี้ยงปลาดุก โครงการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ไม่มีทางที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังย่ำแย่ได้
วัคซีนโควิด ก็โจมตีกันอย่างหนักว่ามีคอร์รัปชัน ไม่มีการซื้อวัคซีนที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก
วันนี้แจกอย่างเดียวไม่พูดถึงการสร้างอาชีพอะไรเลย ทำไมถึงเงียบกริบ
วันดีคืนร้ายบอกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคจบไปแล้ว แต่ก็ยังกู้เงินทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะสูงมาก เป็น “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ภายในประเทศ”
มันย้อนแย้ง โควิด จะลงได้อย่างไรถ้ารัฐบาลเอางบไปกินกันเอง
หลังโควิดจบ ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศ มันจำเป็นต้องกู้เงิน
ตอนนี้เศรษฐกิจมันวิกฤตถึงขั้นรัฐบาลต้องกู้เงินกว่า ๕ แสนล้านบาทมาแจกประชาชนอย่างนั้นหรือ
ไม่รู้ใช้ตรรกะอะไรกัน แต่ที่เคยด่าเขา ตัวเองทำหนักกว่า
การกู้เงินของรัฐบาลมันขึ้นกับสถานการณ์
บางสถานการณ์ไม่กู้จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี แต่บางสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องกู้ แต่ถ้ากู้ ก็นำประเทศสู่หายนะได้เช่นกัน
วันนี้ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น มีอัตราการกู้ในระดับสูงกว่าไทยมาก เขากู้เพราะมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน
จนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุไป ๒๐๐% แล้วก็มี
แต่ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในภาครัฐ ไม่ใช่กู้มาแจกในสถานการณ์ที่ไม่ควรแจกอย่างที่รัฐบาลเศรษฐากำลังทำอยู่
เริ่มพูดกันเยอะว่ารัฐบาลมีแผนล้มนโยบายแจกเงินดิจิทัลหัวละหมื่นบาท โดยยืมมือรัฐสภา องค์กรอิสระ
เพราะหากเลิกด้วยตัวเองจะทำให้ประชาชนโจมตีพรรคเพื่อไทยว่าโกหก หลอกลวง
มีเค้าความจริงอยู่ เนื่องจากรัฐบาลเริ่มทำให้นโยบายนี้ยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าเดิม
เมื่อเลือกจะกู้เงินโดยออกเป็นพระราชบัญญัติ รัฐบาลย่อมรู้เส้นทางหลังจากนี้ดีว่า มีโอกาสเจอหุบเหวมากกว่าจะประสบความสำเร็จ
สภาจะผ่านให้หรือเปล่า!
ต้องผ่านเพราะรัฐบาลคุมเสียงข้างมาก แม้ สว.อาจไม่ให้ผ่าน แต่สุดท้ายย้อนกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร มันต้องผ่าน
หากไม่ผ่านรัฐบาลพัง นายกฯ ต้องยุบสภา ลาออก! เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
หรืออาจตกในชั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ถือว่ารวดเร็ว
และรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เพื่อตัดปัญหาจากผลกระทบทางการเมืองที่จะตามมาในภายหลัง
เอาเฉพาะที่ นายกฯ เศรษฐาแถลงว่า การกู้เงินเป็นไปตามมาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ แค่นี้ก็จุกแล้ว
เพราะรัฐบาลต้องอธิบายให้ได้ว่า ความจำเป็นเร่งด่วน ของรัฐบาลคืออะไร ลองกลับไปดูตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข็นพระราชบัญญัติกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาทเป็นตัวอย่าง
โควิดไปแล้ว สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ทรงตัว
สงครามอิสราเอลกับฮามาส ยังไม่มีผลกระทบวงกว้างในขณะนี้
ยังไม่มีอะไรที่เรียกว่าวิกฤตเหมือนที่รัฐบาลลุงตู่เจอ
พระราชบัญญัติกู้เงินของรัฐบาลอาจไม่ผ่านด่านนี้ด้วยซ้ำ
หรือถ้ารอดไปได้ ก็จะยังมีปัญหาข้อกฎหมายอีกเยอะ
ต้องดูมาตรา ๕๒ ด้วย
การกู้เงินของรัฐบาล และการค้ำประกันการชําระหนี้ของหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐบาล ให้ปฏิบัติตามที่บัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะโดยเคร่งครัด
หรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตราที่เกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติ และความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี
ยาวยืด!
ฉะนั้นน่าจะพอมองเห็นแนวทางว่ารัฐบาลจะเลือกทางลงแบบไหน