ไม่จบ แต่ รบใหม่ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน

เถียงกันไปเถอะครับ ๑๐ ชาติ ไม่จบ

แต่การนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ กับ “นักโทษชายทักษิณ” เสี่ยงติดคุกจากคดี ม.๑๑๒ อะไรมาก่อนหลัง กรณีนี้อธิบายความได้…ชัดเจน

ที่ต้องหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเพราะ เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า ข้อเสนอนิรโทษกรรมนั้น ยังคงรวมฐานความผิด ม.๑๑๒ ด้วย

วานนี้ (๕ มิถุนายน) มีการแถลงข่าวที่รัฐสภา โดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สถานะคือประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พูดถึงผลการดำเนินงาน

“ขณะนี้ก้าวหน้าไปกว่า ๙๐%”

“มีหลากหลายประเด็น มาตรา ๑๑๒ เป็นหนึ่งในนั้น แน่นอนว่าท่ามกลางสังคมที่มีการแบ่งขั้ว และยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ

แต่การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ต้องดูข้อเท็จจริงด้วย เพราะก่อนหน้านี้มีกระบวนการไปบิดเบือนข้อมูล ว่ามีการถอน มาตรา ๑๑๒ ออก ในความเป็นจริงเราไม่เคยถอดฐานความผิดใดเลย เนื่องจากกระบวนการเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทั้งสิ้น

แต่เมื่อเราไม่ถอด มาตรา ๑๑๒ ก็ทำให้เกิดคำถามใหม่อีกว่า ที่ไม่ถอด เพราะต้องการช่วยคุณทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นการเมืองมีผลสูงมาก

ยืนยันว่า เราไม่มีความคิดช่วยเหลือบุคคลใดเป็นพิเศษ และไม่มีการพูดคุยถึงกรณีนายทักษิณเลย ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ”

“ในการทำงานเราก็ยึดหลักการ กรรมาธิการถูกตั้งขึ้นมาก่อนที่จะมีคดีของคุณทักษิณอีก

เพราะฉะนั้น กรอบการทำงานทุกอย่างถูกออกแบบและพูดถึงกันไว้อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่จะใช้ในการจำแนกความผิด คือ ๑.สถิติ ๒. ๒๕ ฐานความผิด ๓.บริบทความขัดแย้ง ๔.พฤติกรรม และนิยามแรงจูงใจทางการเมือง และ ๕.จะหยิบคดีสำคัญๆ ในแต่ละช่วงเวลา มาเพื่อที่จะแบ่งเป็น ๓ ประเภท ๑.คดีหลัก ๒.คดีรอง ๓.คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง”

“การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย เพราะกินระยะเวลายาวนานถึง ๒๐ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละช่วงเวลามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน”

ก็เข้าใจตรงกันนะครับ อนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ไม่เคยบอกว่าจะถอน ม.๑๑๒ ออก

และไม่ได้ช่วย “นักโทษชายทักษิณ”

ดูเหมือน อาจารย์ จะไม่ทันเหลี่ยมนักการเมือง

อนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายนนี่เองครับ

แต่มีผลในวันที่ ๑๘ เมษายน

มีคณะกรรมการทั้งสิ้น ๑๐ คน

๑.รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการ

๒.รองศาสตราจารย์โคทม อารียา

๓.ผู้ช่วยศาสตราจารย์จันจิรา สมบัติพูนศิริ

๔.นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

๕.นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ

๖.นายชัยอนันต์ มานะกุล

๗.นายชัยรัตน์ มาตยานุมัตย์

๘.นายวิพล กิติทัศนาสรชัย

๙.นายศิระภัทร์ คมสัน

๑๐.ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชลี รัตนะ

ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการ ประกอบด้วย

๑.นายชัยธวัช ตุลาธน

๒.นายสุชาติ หล่อโลหการ

๓.นายสุรินทร์ ชลพัฒนา

๔.นางอังคณา นีละไพจิตร

ดูหน้าดูตากรรมการและที่ปรึกษาแล้ว การไม่ตัด ม.๑๑๒ ออก จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

จำได้หรือเปล่าครับว่า คดี ม.๑๑๒ ของ “นักโทษชายทักษิณ” ถูกอัยการสูงสุด เมื่อปี ๒๕๕๘ คือ ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร สั่งฟ้อง

แต่ “นักโทษชายทักษิณ” เผ่นไปต่างประเทศก่อนแล้ว

และเมื่อ “นักโทษชายทักษิณ” กลับมา อัยการนัดไปฟังคำสั่งในวันที่ ๑๐ เมษายน ที่ผ่านมา แต่เจ้าตัวขอเลื่อน

จึงนัดใหม่เป็นวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ก่อนที่อัยการสูงสุดคนปัจจุบันยืนยันสั่งฟ้อง

ตรงไหนที่อนุกรรมาธิการฯ ตั้งก่อนคดี ม.๑๑๒ ของ “นักโทษชายทักษิณ”

ถ้าบอกว่า หมายถึง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชุดที่ตั้งอนุกรรมการที่ อาจารย์ยุทธพร เป็นประธานขึ้นมา

กรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ก็อายุมากกว่ายุงไม่เท่าไหร่

ฉะนั้นคำพูดตรงนี้ของ อาจารย์ยุทธพร เชื่อถือไม่ได้

แต่ก็ไม่ได้จะมาเปิดศึกอะไร แค่จะบอกว่าเมื่อมารับทำงานแบบนี้ ก็ต้องทันเหลี่ยมนักการเมืองด้วย

กระนั้นก็ตามเห็นด้วยกับที่อนุกรรมาธิการฯ จำแนกความผิด บนพื้นฐานความผิด สถิติ บริบทความขัดแย้ง นิยามแรงจูงใจทางการเมือง

คดีการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง หลากสี รวมทั้งส้ม หากมาจากบริบทการเมืองล้วนๆ ก็สมควรได้รับการนิรโทษกรรม

แต่หากมาจากบริบทล้มล้างสถาบัน อนุกรรมาธิการฯต้องตกผลึกประเด็นนี้ให้มาก

เพราะแทนที่จะนำไปสู่ความปรองดอง อาจกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมา

อย่าทำเป็นไม่ประสีประสาในประเด็นนี้เลยครับ

ไม่ว่าจะเป็นสถิติ หรือแรงจูงใจ ผู้ทำผิด ม.๑๑๒ นั้น ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความขัดแย้งของขั้วการเมืองที่เราเคยรู้จัก

แต่ต้องการล้มล้างเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่ โดยใช้ “ประชาธิปไตย” เป็นเกราะป้องกันตัวเอง

คดี ม.๑๑๒ หากจะให้จบแบบไม่ก่อความขัดแย้งเพิ่ม ต้องจบที่ศาลเท่านั้น ไม่ใช่จบเพราะการนิรโทษกรรม

เพราะเจตนาผู้ก่อความผิด ส่วนใหญ่มิได้ทำผิดครั้งเดียว

หรือทำผิดเพราะไม่รู้

เนื่องจาก “แรงจูงใจ” ถูกปลุกเร้าจากพรรคการเมืองจนไม่อาจกลับหลังหันได้อีกแล้ว

ถึงได้รับการนิรโทษกรรมไป ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาก่อความผิดอีก

ที่สำคัญ อย่าลืมว่า มีประชาชนจำนวนมากที่รับไม่ได้ หากคนที่จาบจ้วงเบื้องสูง แล้วได้นิรโทษกรรมโดยไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น

ความไม่พอใจจะยิ่งกว่าพายุ

สุดท้ายเกินกำลังที่นักการเมือง หรือนักวิชาการ จะจัดการอะไรได้

ก็เตือนไว้ คิดให้เยอะ อย่าคิดเพื่อให้ตัวเองดูหล่อ ดูสวย

เพราะมันจะจบไม่สวย

Written By
More from pp
สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ประจำวัน พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม ๕๑ ราย
๖ เมษายน ๒๕๖๓ – นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือ โควิด๑๙
Read More
0 replies on “ไม่จบ แต่ รบใหม่ – ผักกาดหอม”