9 สิงหาคม 2566 รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ โทณะวณิก เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าว ในประเด็นความเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มทะลุวัง ว่า
ในความเป็นพรรคก้าวไกล มันมีเรื่องของกลุ่มทะลุวัง ที่กำลังเป็นประเด็นกันอยู่ ไปจนถึงเรื่องของคณะก้าวหน้า
สำหรับพรรคก้าวไกลเอง ปัจจุบันนี้ ไม่ได้รับการยอมรับในสายตาของพรรคการเมืองด้วยกัน ยกเว้นกลุ่มที่ต้องเข้าไปจับมือด้วยความจำเป็น ซึ่งมีไม่มากนัก
ขณะที่ภาพรวม พรรคส่วนใหญ่ ไม่เอาด้วยกับก้าวไกล ด้วยประเด็นของการที่พรรคก้าวไกล มุ่งมั่นจะแก้ไข ยกเลิก ม. 112 เรื่องนี้ หลายพรรค เขาไปต่อด้วยไม่ได้ เพราะมันกระทบกันหมด กระเทือนกันหมด
นอกจากนั้น อย่างที่บอกว่าพรรคก้าวไกล มันมีคณะก้าวหน้า และกลุ่มนู้นกลุ่มนี้เต็มไปหมด ซึ่งการทำงานของพรรคก้าวไกลคือ การไม่ผูกมิตร สวนทางกับธรรมชาติการเมือง ที่มันไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร แน่นอน เมื่อใครเห็นก้าวไกล ก็ไม่อยากทำงานด้วย
“มวลชนของพรรคก้าวไกล คือ ตัวฉุดพรรค ให้ดิ่งต่ำลง ยกตัวอย่าง ถ้าพรรคก้าวไกล มีความคิด มีชุดอุดมการณ์ เขาปรับแต่งได้ เรื่องการทำงานกับฝ่ายต่างๆ ประสบการณ์ จะสอนเขาเอง เรื่องท่าทีทางการเมือง เขาจะเข้าใจ เมื่อมีพัฒนาการ เมื่อมีวุฒิภาวะ ว่าจะทำอย่างไร ให้ได้ในสิ่งที่ตั้งใจ
แต่มวลชน ซึ่งไม่ว่าจะช่วงอายุไหน ก็เห็นความก้าวร้าว และไม่ย่อท้อในการสร้างเงื่อนไขไปสู่ความขัดแย้ง นี่คือ สิ่งที่แบกก้าวไกล ไปพร้อมๆ กับดึงรั้งพรรคก้าวไกล
มวลชนพรรคก้าวไกล มีความคิดดีๆ ก็มาก เช่น การปราบทุจริต การทำลายระบบทุนผูกขาด การทำลายเรื่องเส้นสาย แต่ปัญหาคือ วิธี ที่เขามุ่งจะใช้ความรุนแรงในการทำลาย และสิ่งใหม่มาแทนที่ มันถึงได้เกิดการไล่ล่า”
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล ต้องรับผิดชอบกับพฤติกรรมของมวลชนหรือไม่
รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ กล่าวว่า ผมว่า คนทำงานการเมือง เข้าไปนั่งในสภา คงไม่อยากไปไล่ล่าใคร เขาแค่ต้องการแบ่งแยก แล้วปกครอง แต่ที่สุดแล้ว พรรคการเมืองหนึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อกองเชียร์ของตน ในแง่ของการเข้าไปห้ามปรามไม่ให้เกิดความก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งผมเชื่อว่า มันต้องจัดการในเรื่องนี้ก่อน”