ศูนย์ปราบปรามหนี้นอกระบบฯ ระดมกวาดล้างเครือข่ายแอปฯ เงินกู้นอกระบบ รีดดอกเบี้ย 2085% ต่อปี ค้น 3 จังหวัด รวบ 9 ผู้ต้องหา

ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนจากเงินกู้นอกระบบในหลายรูปแบบ เช่น แอปพลิเคชันเงินกู้ ผิดกฎหมาย, แก๊งหมวกกันน็อก, การรับจำนำรถ เป็นต้น
ศปน.ตร. นำโดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ ผอ.ศปน.ตร., พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./รอง ผอ.ศปน.ตร. พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปน.ตร. ได้สั่งการให้ ชุดปฏิบัติการสืบสวนส่วนกลาง ศปน.ตร. เร่งรัดปราบปรามกลุ่มเงินกู้นอกระบบที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ โดยให้ดำเนินการสืบสวนหาเครือข่ายผู้กระทำความผิดดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายดังนี้

1. ชุดปฏิบัติการสืบสวนส่วนกลาง ศปน.ตร. ชุดที่ 1 จับกุมแก๊งแอปเงินกู้นอกระบบ

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1 , พล.ต.ต.นราเดช ทิพย์รักษ์ รอง ผบช.ภ.1 ได้สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ ชป.ส่วนกลาง 1 ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ในความผิดเกี่ยวกับแอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย ชื่อแอปฯ “กู้ให้ดีดี” ซึ่งมีรูปแบบการให้กู้ยืมผ่านแอปพลิเคชัน ระยะเวลาในการกู้ยืมเงิน 7 วัน โดยจะหักดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 40 ต่อ 7 วัน ต้องชำระเงินคืนเต็มจำนวน เมื่อคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีจะพบว่า มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2085% ต่อปี หากไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทัน ผู้กู้ก็จะถูกโทรศัพท์มาข่มขู่ และโพสต์รูปประจานบนสื่อสังคมออนไลน์

จากการสืบสวนพบว่า เครือข่ายเงินกู้นอกระบบแอปพลิเคชัน “กู้ให้ดีดี” มีเส้นทางการเงินของเครือข่ายนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม มีรายละเอียด ดังนี้

  • กลุ่มบัญชีโอนเงินให้ผู้กู้ (บัญชีธนาคารขาเข้า) และเชื่อได้ว่าเป็นกลุ่มบัญชีธนาคารที่ใช้เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ (บัญชีม้าสำหรับโอนเงินกู้ให้ผู้กู้)
  • กลุ่มเจ้าของบัญชีรับชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย (บัญชีธนาคารขาออกชั้นที่ 1) และเชื่อว่าเป็นกลุ่มบัญชีธนาคารที่ใช้เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ (บัญชีม้าสำหรับรับโอนชำระหนี้เงินกู้)
  • กลุ่มเจ้าของบัญชี สำหรับพัก/ยักย้าย/รวบรวมทรัพย์สิน (บัญชีธนาคารขาออกชั้นที่ 2) โดยการรับโอนจากบัญชีธนาคารกลุ่มเจ้าของบัญชีรับชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย และพบว่าบางส่วนโอนแจกจ่ายต่อไปยังบัญชีธนาคารกลุ่มโอนเงินให้ผู้กู้ จึงเชื่อว่าเป็นกลุ่มบัญชีนายทุนเงินกู้ และผู้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกู้

จากพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมได้ จึงได้ร้องขออนุมัติหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าของบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายลักลอบปล่อยเงินกู้ แอปพลิเคชัน “กู้ให้ดีดี” จำนวน 14 ราย ในข้อหา “ร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน

โดยมีลักษณะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและโดยกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆไว้ในหลักฐานการกู้ยืม หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและร่วมกันเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับในทางการค้าปกติโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยมีเงินหมุนเวียนประมาณ 160 ล้านบาท

ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2566 พล.ต.ต.อภิชาติ วรรณภักดิ์ ผบก.บก.สส.ภ.1 , พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.๕ , พล.ต.ต.พัลลภ แอร่มหล้า ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ , พล.ต.ต.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล ผบก.ภจว.เชียงราย , พ.ต.อ.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ , พ.ต.อ.พีรศักดิ์ รอดบน รอง ผบก.สส.ภ.1 / หน.ชป.ส่วนกลาง ศปน.ตร. ชุดที่ 1 และ พ.ต.อ.กฤษดา พันธ์เกษม รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ / หน.ชป.ส่วนกลาง ศปน.ตร.ชุดที่ 5 พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการ ศปน.ตร.ภ.1 และ ภ.5 เข้าทำการ ปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 9 จุด ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ เชียงราย ผลการดำเนินการสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ทั้งหมด 9 ราย หลบหนี 5 ราย ประกอบด้วย

1. น.ส.พรทิพย์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 476/2566 ลง 20 ก.ค.66
2. นายรังสิมันต์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 477/2566 ลง 20 ก.ค.66
3. น.ส.ศุจิกานต์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 478/2566 ลง 20 ก.ค.66

4. นายกิตติพันธ์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 480/2566 ลง 20 ก.ค.66
5. นายนที (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 484/2566 ลง 20 ก.ค.66
6. นายสิษธินันท์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 485/2566 ลง 20 ก.ค.66

7. นายสุทธินัน (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 486/2566 ลง 20 ก.ค.66
8. นางอรศิริ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 488/2566 ลง 20 ก.ค.66
9. น.ส.มณีพรรณ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 489/2566 ลง 20 ก.ค.66

นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ภ.จว.สมุทรปราการ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปน.ตร. กล่าวว่า ในวันนี้ ศปน.ตร. มีหน้าที่ในการปราบปรามแก๊งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันมีการกระทำผิดในหลายรูปแบบ ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการจับกุม แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบผิดกฎหมายที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน และเป็นการตัดวงจรกลุ่มบัญชีม้าซึ่งเป็นต้นทางของการนำไปก่ออาชญากรรมในหลากหลายรูปแบบ หลังจากจับกุมกลุ่มดังกล่าวแล้ว จะให้สืบสวนขยายผลหาผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป เนื่องจากปัจจุบันพบว่ากลุ่มคนร้ายได้ใช้การแปลงเงินตราให้เป็นเงินสกุลดิจิทัลเพื่อให้ยากแก่การติดตาม อย่างไรก็ตาม ศปน.ตร.จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มผู้กระทำผิดให้สิ้นซาก

สุดท้ายนี้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากเตือนภัยถึงประชาชน อย่าหลงเชื่อในการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยังเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากต้องการตรวจสอบแหล่งเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อได้ที่ช่องทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

Written By
More from pp
โยคะ-มาราธอน เพื่อสถานภาพสตรี รวมอาจารย์โยคะนำทีมทำประโยชน์เพื่อเด็กและสตรี ร่วมส่งเสริมสังคมน่าอยู่พร้อมชวนคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพดีด้วยโยคะ
“ข้าวใส่ใจ” ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี จัดโครงการ “โยคะเพื่อสถานภาพสตรี” รวมกลุ่มอาจารย์โยคะเชิญชวนผู้สนใจร่วมชาเลนจ์ทำโยคะสุริยนมัสการ 108 รอบ ในรูปแบบ Full Marathon ปลุกกระแสโยคะเพื่อการดูแลสุขภาพ
Read More
0 replies on “ศูนย์ปราบปรามหนี้นอกระบบฯ ระดมกวาดล้างเครือข่ายแอปฯ เงินกู้นอกระบบ รีดดอกเบี้ย 2085% ต่อปี ค้น 3 จังหวัด รวบ 9 ผู้ต้องหา”