มะเร็งเต้านม ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหาย

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มจากทั่วโลกหรือในประเทศไทยเอง โดยตัวเลขของผู้หญิงที่ตรวจพบเป็นมะเร็งเต้านมทั่วโลกมีประมาณ 2.2 ล้านรายต่อปีและเสียชีวิตราว 680,000 คนต่อปี

สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกรมการแพทย์ในปี 2564 พบว่ามีหญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมประมาณ 17,043 คนต่อปี หรือคิดเป็น 47 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คนต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูง เพิ่มอัตราการรอดชีวิตและคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย รวมถึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้

แพทย์หญิงวีรวรรณ ฉัตรตรัสตรัย รังสีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยขั้นสูงด้านเต้านมและรังสีร่วมรักษาของเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามอายุ, มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว, มีญาติสายตรงที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่, การมีประจำเดือนเร็วและหมดประจำเดือนช้า, เคยมีประวัติการฉายแสงบริเวณหน้าอกมาก่อน, และการมีภาวะเนื้อเต้านมหนาแน่น ซึ่งจะทราบได้โดยการทำแมมโมแกรม

ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน, การดื่มแอลกอฮอล์, การใช้ยาฮอร์โมนต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการออกกำลังกาย

ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรมควบคู่กับการทำอัลตราซาวนด์เต้านม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติทางพันธุกรรมในครอบครัว หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านเต้านมเพื่อเข้ารับการตรวจก่อนกลุ่มผู้หญิงทั่วไปในช่วงอายุที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มที่มาด้วยอาการผิดปกติของเต้านม เช่น มีการคลำได้ก้อน, มีน้ำไหลออกจากหัวนม, มีลักษณะของเต้านมและผิวหนังที่ผิดไปจากปกติ (ผิวหนังบุ๋มตัว คล้ายเปลือกส้ม หรือหัวนมบุ๋ม), เคยเจาะพบชิ้นเนื้อประเภทความเสี่ยงสูงมาก่อน, และเคยมีประวัติมะเร็งเต้านมมาก่อน ควรได้รับการตรวจด้วยแมมโมแกรม และ/หรือ อัลตราซาวนด์ทุกราย

สำหรับการทำแมมโมแกรมเป็นการตรวจภาพเต้านมโดยการใช้ภาพถ่ายทางรังสี โดยเครื่องตรวจจะปล่อยรังสีในระดับต่ำ ปริมาณรังสีเมื่อเทียบกับการตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่าสูงกว่าเพียงเล็กน้อย หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของปริมาณรังสีตามธรรมชาติที่อยู่รอบตัว

ในปัจจุบันโรงพยาบาลเวชธานีมีเทคโนโลยีการตรวจด้วยแมมโมแกรม 3 มิติ ใช้เวลาถ่ายภาพเอกซเรย์เพียง 3.7 วินาทีต่อท่า ช่วยให้สามารถแยกก้อนเนื้อออกมาจากการทับซ้อนกันของเนื้อเต้านมได้ ส่งผลให้เห็นก้อนเนื้อหรือหินปูนที่ผิดปกติได้ชัดเจนขึ้นและยังได้ภาพที่ละเอียดมากกว่าเดิม

โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีเนื้อเต้านมที่แน่น (dense breast) ดังนั้นการตรวจเต้านมโดยการทำแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้งจึงถือว่ามีความปลอดภัย และช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

ส่วนการทำอัลตราซาวนด์ จะทำให้เห็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมได้ หากพบว่ามีก้อนเนื้อจะสามารถบอกขนาดและขอบเขตของก้อนเนื้อได้ว่าเรียบร้อยดี หรือค่อนไปทางมะเร็ง ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยได้ละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น

“การตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ประจำปีไม่ใช่วิธีการป้องกันมะเร็งเต้านม แต่ช่วยในการคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในทางในการเจาะตรวจชิ้นเนื้อในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติจากภาพวินิจฉัย ทำให้สามารถตรวจพบรอยโรคได้ในขนาดเล็กขณะที่ยังไม่มีอาการผิดปกติ และสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เพิ่มอัตราการรอดชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยได้” แพทย์หญิงวีรวรรณกล่าว

มะเร็งเต้านมถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัว การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวน์จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคนที่มีข้อบ่งชี้ เพราะมะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาหายขาดได้

Written By
More from pp
ดิ เอ็มโพเรี่ยม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ ชวนสัมผัสหลายมุมมองแห่งความรัก ผ่านงาน “เอ็มแฟชั่นไอคอน เอ็กซ์ เตยยี่อาทเวิร์ค เอ็กซ์ฮิบิชั่น อะ ฮาร์ท ทู บี เฮิร์ด”
เอ็มแฟชั่นไอคอน ฉลองเดือนแห่งความรัก จับมือ เตยยี่ ประภัสสร กาญจนสูตร ศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังโด่งดังในเมืองไทย จัดนิทรรศการ “เอ็มแฟชั่นไอคอน เอ็กซ์ เตยยี่อาทเวิร์ค เอ็กซ์ฮิบิชั่น...
Read More
0 replies on “มะเร็งเต้านม ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหาย”