16 ก.ค.นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรี กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา พร้อมจัดตั้งสภาธุรกิจ 6 ประเทศ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ว่า

ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ครั้งที่ 12 (Joint Ministerial Statement of the 12th Mekong – Ganga Cooperation Ministerial Meeting) โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมในการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ในรูปแบบการประชุมแบบผสมผสาน

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา (Mekong – Ganga Cooperation: MGC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ซึ่งริเริ่มโดยอินเดีย ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และอินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอนุภูมิภาคน้ำโขงใน 10 สาขาความร่วมมือ ได้แก่

(1)การท่องเที่ยว (2)วัฒนธรรม (3)การศึกษา (4)สาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม (5)การเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง (6) คมนาคมและการสื่อสาร (7)วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม (8)การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (9)วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (10)การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างศักยภาพ

สำหรับเอกสารที่จะรับรองในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ครั้งที่ 12 และเอกสารภาคผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ เอกสารแนวคิดเรื่องกลไกประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country) ในแต่ละสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา และเอกสารแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา (MGC Business Council) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ครั้งที่ 12 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกและเพิ่มประสิทธิภาพของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ในหลายสาขาความร่วมมือ โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ

1.หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา อาทิ ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เช่น เสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการภัยแล้งและอุทกภัย ร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

2.การค้าและการลงทุน อาทิ ขยายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก MGC ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการจัดการประชุมธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา จัดตั้งสภาธุรกิจ MGC เพื่อผลักดันวาระทางเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

3.ความเชื่อมโยง อาทิ สนับสนุนโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม อินเดีย – เมียนมา – ไทย (โครงการถนนสามฝ่าย) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิก

4.การศึกษา การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างศักยภาพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเกษตร อาทิ ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุนให้บริษัทเอกชนใช้ประโยชน์จากโอกาสในการลงทุนภาคเกษตรกรรม

5.สาธารณสุข อาทิ ส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกัน การตรวจหาเชื้อ และการรับมือกับภัยคุกคามจากโรคระบาดในอนาคตและโรคอุบัติใหม่ พัฒนาความร่วมมือในสาขาการแพทย์แผนดั้งเดิมระหว่างประเทศสมาชิก

6.การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม อาทิ ร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยวอัจฉริยะภายในภูมิภาค ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก

นางสาวรัชดา กล่าวว่า เอกสารภาคผนวกอีก 2 ฉบับ ที่จะมีการรับรอง ได้แก่ 1.เอกสารแนวคิดเรื่องกลไกประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country) ในแต่ละสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูบทบาทของประเทศผู้ขับเคลื่อนหลักและกลไกคณะทำงานสำหรับสาขาความร่วมมือทั้ง 10 สาขา

โดยไทยอาสาเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก 3 สาขา คือ สาขาการท่องเที่ยว สาขาสาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม และสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.เอกสารแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา (MGC Business Council) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจของประเทศสมาชิกและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น สภาธุรกิจ MGC

ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดไม่เกิน 60 คน จากประเทศสมาชิกละ 10 คน โดยจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ดังนี้ (1)การส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรม (2)การส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ (3)การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนา (4)บทบาทด้านการวิจัยและการให้คำปรึกษา

Written By
More from pp
เซเว่นอัพ จัดเต็มดึง ณเดชน์ คูกิมิยะ ร่วมท้าให้ลอง “เซเว่นอัพ” ไม่มีน้ำตาล เครื่องดื่มเลมอนไลม์ ในงาน “7UP อร่อยเวอร์เซอร์ไพรส์”
เครื่องดื่มเซเว่นอัพ โดยบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย นายอนวัช สังขะทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เดินหน้ายกขบวนเครื่องดื่มเซเว่นอัพ...
Read More
0 replies on “16 ก.ค.นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรี กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา พร้อมจัดตั้งสภาธุรกิจ 6 ประเทศ”