หลักฐานใหม่ ชี้ชัด จุดความร้อนไทยสูงสุดอยู่ที่ “เขตป่าอนุรักษ์” และ “เขตป่าสงวน”

พฤกษ์ รุกขพสุธา นักวิชาการอิสระ

ช่วงนี้ นอกจากความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งที่กำลัง “ฮอต” แล้ว ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควัน เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่สังคมถกกันมาราธอนมากว่า 2 สัปดาห์ โดยภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งภาคปศุสัตว์ ที่ต้องใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนไม่น้อย เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ ถูกจับตาว่าเป็นต้นเหตุ กระตุ้นให้ภาครัฐ-เอกชน ที่เกี่ยวข้องต้องระดมสมองเพื่อศึกษารายละเอียดเชิงลึกและนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เนื่องจาก 5 ปีมาแล้ว ที่ปัญหานี้และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยังอยู่กับประเทศไทย

ผมได้รับข้อมูลจากเพื่อนข้าราชการที่รับผิดชอบการเก็บข้อมูลจุดความร้อน (Hot Spot) จากจังหวัดทางภาคเหนือทั้งหมดของประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 เป็นการสำรวจด้วยดาวเทียมและจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีมาตรฐานสากล เห็นตัวเลขแล้วทำให้ “ประหลาดใจ” ว่า จุดความร้อนที่เกิดมากที่สุดคือ พื้นที่เขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีจุดความร้อนสูงเกิดขึ้นถึง 95.6% และ 78.6% ของพื้นที่ ตามลำดับ รองลงมา คือ ชุมชนและอื่นๆ 75.4% ขณะที่พื้นที่การเกษตรคิดเป็น 20.8% ที่ตกใจ คือ นาข้าว มีจุดความร้อนสูงสุดคือ 56.6% ผิดเป้าที่โยนความรับผิดชอบไปที่ข้าวโพดและอ้อย ที่มีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกันคือ 10%

จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว เป็นต้นทางที่ทำให้เห็นเกิดคำถามใหม่กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องหาคำตอบว่า “เหตุใดจุดความร้อนจึงอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวนแห่งขาติ มากที่สุด?” เพราะตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำเลยสังคมในเรื่องฝุ่น PM 2.5 คือ ภาคการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไร่อ้อย ว่าเป็นตัวการใหญ่การเผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยวทำเกิดฝุ่นควันล่องลอยในอากาศ ทั้งที่ความจริงก็คือ นาข้าวที่มีการเผามากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมให้รัฐบาลห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศที่ยังมีการเผาและบุกรุกพื้นที่ป่า โดยเฉพาะในเมียนมา ที่ยังมีการเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว และเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกพืช รวมถึงข้าวโพด ทำให้ฝุ่นควันลอยข้ามพรมแดนมาที่ภาคเหนือของไทย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนไทยในวงกว้าง ในข้อนี้ สังคมตั้งคำถามว่า “การห้ามนำเข้า” จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ? หากแต่เรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบายของแต่ละประเทศ และเป็นข้อตกลงในการทำการค้าเสรีระดับภูมิภาค (Asean Free Trade Area : AFTA) ดังนั้นการแก้ปัญหาอาจจะต้องมีการเจรจาความร่วมมือในระดับทวิภาคี หาจุดสมดุลผลประโยชน์ร่วมกัน หาไม่อาจจะเป็นการละเมิดข้อตกลง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกเกิดรอยร้าวได้

ที่สำคัญรัฐบาลชุดใหม่ ต้องมองเห็นภาพใหญ่ของฝุ่น PM 2.5 ให้ทะลุ และแก้ปัญหาแบบองค์รวม เช่น จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรและส่งเสริมให้ใช้วิธี “ไถกลบ” แทนการการเผา สร้างแหล่งน้ำ และสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งมาสู่ตลาด และนำเทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับมาใช้สร้างหลักประกันผลผลิตปลอดจากการเผา รวมถึงโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร หรือ ประกันรายได้เกษตรกร ต้องมีการกำหนดผลผลิตต้องไม่มาจากการเผาในไร่ หรือบุกรุกป่า เป็นเงื่อนไขสำคัญในการให้เงินอุดหนุน เพื่อส่งเสริมการผลิต การเก็บเกี่ยว และการเพาะปลูกตามหลักวิชาการมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใช้ข้อมูลเชิงลึกอย่างมีประสิทธิภาพและไตร่ตรองให้รอบด้าน ไม่หลงทางไปกับข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือ หรือปรักปรำใครคนใดคนหนึ่งเป็นจำเลยเฉพาะหน้า เพื่อจบปัญหาฝุ่น ควัน หมอก อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องรอ “น้ำฝน” จากธรรมชาติมาช่วยบำบัดเช่นที่ผ่านมา

Written By
More from pp
สุดยอด! “กัปตันเมล์” ไทย สมายล์ บัส รับรางวัล “เพชรน้ำงาม” ย้ำหลัก 5ก. ยกระดับคนรถเมล์ไทย
นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB ร่วมมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ รางวัล...
Read More
0 replies on “หลักฐานใหม่ ชี้ชัด จุดความร้อนไทยสูงสุดอยู่ที่ “เขตป่าอนุรักษ์” และ “เขตป่าสงวน””