ขบวนการหมูเถื่อน วิ่งผลัด 4×100 จากท่าเรือแหลมฉบัง ถึงผู้บริโภค

อาบอรุณ ธรรมทาน

นักวิชาการอิสระ

มากกว่า 3 เดือนแล้ว (กันยายน-พฤศจิกายน 2565) ที่หน่วยงานเกี่ยวข้องภาครัฐโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ทหาร ตำรวจ และกรมศุลกากร เดินหน้าปราบปรามหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาในไทยอย่างจริงจัง แบบกัดไม่ปล่อย ติดตามทุกเส้นทางที่จะเป็นโอกาสให้เนื้อสัตว์ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและสารตกค้างเล็ดลอดเข้าไทย

ไม่ว่าจะเป็นทางรถ หรือ ทางเท้า แบบกองทัพมดมาตามตะเข็บชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมจับกุม 25 ครั้ง ได้ของกลาง 1,142 ตัน (1.142 ล้านตัน) เทียบกับช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 ที่มีการจับกุมเพียง 5 ครั้ง ได้ของกลางเพียง 115 ตัน (115,000 กิโลกรัม)

หากพิจารณาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่ดึงเวลานานเกือบปีได้เช่นนี้ ต้องทำงานเชื่อมโยงกันเป็นขบวนการแบบครบวงจร เปรียบได้กับการวิ่งผลัด 4X100 ตั้งแต่จุดนำเข้าจนถึงเส้นชัยคือตลาดในประเทศไทย โดยไม้ผลัดที่ 1 เริ่มที่ช่องทางหลักที่หมูเถื่อนเข้าประเทศไทย คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของขบวนการ ผู้เกี่ยวข้องในจุดนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเจ้าหน้าที่ศุลการักษ์ “นอกรีด” รวมวงด้วย จึงตรวจสอบไม่พบหมูเถื่อนที่มาเป็นคอนเทนเนอร์สักครั้งเดียว

ไม้ผลัดที่ 2 คือ กลุ่ม “ชิปปิ้ง มาเฟีย” กินหัวคิว เป็นนายหน้าออกของผิดกฎหมายให้นายทุนสีเทา ชาวจีน จ่ายใต้โต๊ะให้ผู้เกี่ยวข้องที่ท่าเรือ เพื่อให้ทางสะดวก ตรวจอย่างไรก็เป็นอาหารทะเลทั้งหมดไม่มีหมูเถื่อนแม้แต่กล่องเดียว ว่ากันว่าค่าออกของใต้โต๊ะส่วนนี้สูงถึง 550,000 บาทต่อตู้ (เพื่อนำไปจ่ายต่อกับผู้ควบคุมเส้นทางออกของตลอดสาย) ลองคิดดูว่ากำไรที่จะได้รับจากการลักลอบต้องมากเท่าไร จึงจะคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าโสหุ้ย

บริษัทขนส่งโลจิสติกส์ รับไม้ที่ 3 ทำงานเชื่อมโยงกับชิปปิ้งมาเฟียและนายทุนจีนสีเทา ลากตู้คอนเทนเนอร์หมูเถื่อนผิดกฎหมายไปฝากไว้ในห้องเย็นเครือข่าย เพื่อพักรอการกระจายตามอดเดอร์ลูกค้า เพราะหมูเถื่อนเข้าไทยมาแบบแช่แข็ง

ไม้ผลัดสุดท้าย คือ พ่อค้า-แม่ค้าคนกลางเครือข่าย ซึ่งเป็นไม้สำคัญในการกระจายสินค้าให้ถึงเขียงหมู ร้านหมูกระทะ ร้านอาหารตามสั่ง และผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว เข้าเส้นชัยแบบจับมือใครดมไม่ได้ ฟันกำไรกันเป็นทอดๆ

หลังภาครัฐ ตรวจตรา จับกุมเข้มงวด หมูเถื่อนหายาก สั่งแล้วได้ของไม่ครบ ไม่ผลัดสุดท้ายพ่อค้า-แม่ค้า จำนวนไม่น้อยเริ่มถอดใจ หันไปขายอาหารอื่น เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง หาเงินช่วงของหายากไประยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความพยายามลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนตามตะเข็บชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านแบบกองทัพมด ที่จับกุมได้บ่อยคือ ด่านจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดมุกดาหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ ของกรมปศุสัตว์ เป็นแกนนำ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันโรคระบาด ASF ไม่ให้เข้ามาแพร่ในประเทศซ้ำสอง

เนื่องการกำจัดให้หมดไปเป็นเรื่อง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหมดกำลังใจ เพราะหมูเป็นโรคเมื่อไหร่ต้องทำลายทิ้งทั้งหมด ไม่ให้โรคแพร่กระจายต่อ ที่สำคัญเป็นการสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพราะคุณภาพหมูไทยปลอดภัยและไม่แพ้ชาติใดในโลก

ขณะที่หมูเถื่อนมาจากทางอเมริการ หรือ บราซิล ยังอนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ แต่หมูปลอดสารชนิดนี้ ส่วนหมูจากประเทศทางยุโรป ก็จำเป็นต้องตรวจสอบคุณภาพและสารตกค้างเช่นเพราะมีโอกาสที่จะเป็นหมูติดโรค ASF ซึ่งเป็นทวีปที่มีการระบาดสูง หรือ อาจเป็นหมูคุณภาพต่ำใกล้หมดอายุ ประเทศต้นทางไม่นิยมบริโภค ส่งออกเป็น “เนื้อขยะ” มาที่ไทยเอาทุนคืนก็ยังดี แล้วหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรับทราบไม้ผลัดดังกล่าวแล้ว ต้องตัดตอนแต่ละช่วงด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาด สืบหาตัวคนผิดมาลงโทษให้เป็นตัวอย่างของสังคม เพื่อไม่เกิดเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีอีกต่อ เพื่อการกินดี อยู่ดี ของคนไทยทั้งประเทศ

0 replies on “ขบวนการหมูเถื่อน วิ่งผลัด 4×100 จากท่าเรือแหลมฉบัง ถึงผู้บริโภค”