ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวางแผนครอบครัวนานาชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 14 -17 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติพีช เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ศาสตราจารย์คลินิกกิตติคุณ ดร.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ แห่งประเทศไทย Mr. Jose “Oying” Rimon II ผู้อำนวยการสถาบัน Bill & Melinda Gates เพื่อประชากรและอนามัยการเจริญพันธุ์ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ กล่าวว่า การประชุมวิชาการวางแผนครอบครัวนานาชาติ ครั้งนี้เป็นความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานวางแผนครอบครัว รวมไปถึงการพัฒนาประชากรในมิติต่าง ๆ จากหลายประเทศ
ทั่วโลก
โดยมีบุคลากรสำคัญจากนานาชาติ ทั้งในระดับผู้นำ ผู้บริหารองค์กรด้านสุขภาพ และการพัฒนาประชากร นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ที่สนใจจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 คน จาก 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับประเทศไทย
ในการส่งเสริมและขยายการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ และการวางแผนครอบครัว ที่สอดคล้องกับความต้องการ
อย่างเท่าเทียมตามสิทธิภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกระบบ
และเป็นการปูทางให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย แห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ปี 2573 ในการรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทุกคนทุกช่วงวัย
ดร.สาธิต กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานวางแผนครอบครัวของไทย ได้เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2513 โดยมีการประกาศนโยบายประชากรครั้งแรก ที่สนับสนุนการวางแผนครอบครัวด้วยความสมัครใจ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับอัตราการเพิ่มประชากรที่สูงมาก มีการจัดบริการคุมกำเนิดที่มีคุณภาพและปลอดภัย เข้าถึงง่าย มีบริการคุมกำเนิดที่หลากหลาย
ซึ่งการดำเนินงานมีความก้าวหน้า และประสบความสำเร็จ จนทำให้อัตราการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยต่ำกว่าร้อยละ 15 ในช่วงก่อนเริ่มมีนโยบายด้านประชากร เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 80 แต่ด้วยวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป การมีค่านิยมอยู่เป็นโสด หรือแต่งงานช้าลง
ทำให้ปัจจุบันไทยมีอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมในช่วงปี 2507 – 2526 เคยมีเด็กเกิดปีละประมาณ 1 ล้านคน แต่นับจากปี 2562 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีเหลือต่ำกว่าปีละ 6 แสนคน ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศ
ในปี 2565 ลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1.6 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน
“ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินงานวางแผนครอบครัว และอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างแท้จริง โดยในปี 2540 ได้ประกาศนโยบายอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยปรับเปลี่ยนจากเดิมที่มุ่งเน้นการคุมกำเนิด มาเป็นการดำเนินงานที่มีความครอบคลุมมิติด้านการวางแผนครอบครัวเพื่อเพิ่มคุณภาพประชากรยิ่งขึ้น
การดำเนินงานได้มีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2553 – 2557 และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 1 ได้มีการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 – 2569 ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ การเกิดที่มีคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการวางแผนครอบครัว มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน รวมถึงหญิงที่จะตั้งครรภ์ ควรอยู่ในวัยที่เหมาะสมด้วย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่สุด