ผักกาดหอม
มีกลิ่นตุๆ
ไม่ใช่รัฐประหารครับ
เป็นกลิ่นสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นจากการมโนเอาเองของใครหลายๆ คน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา “ทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ” แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ไปพูดที่ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา หัวข้อ “หยุด ๓ ป. หยุดรัฐประหาร นับหนึ่งประเทศไทย” เล่นเอาตกใจ!
“…คณะหลอมรวมประชาชนยืนยัน ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การเลือกตั้งไม่มีเด็ดขาด
ใครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ขอให้ลาออก
ต่อให้บางพรรคได้ ๓๐๐ เสียง ไม่มีทางจะได้จัดตั้งรัฐบาล จะมีมวลชนอีกส่วนออกมาขวาง ประเทศจะวุ่นวาย
ประเทศนี้จะเริ่มต้นได้ ประชาชนเป็นใหญ่ได้ ต้องเริ่มจากอำนาจอธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ป.ป.ช.ต้องอยู่ใต้ประชาชน…”
อ่านอยู่สองสามเที่ยว “ทนายนกเขา” หมายความว่าอย่างไรกันแน่
ยืนงงในดงหลอมรวมครับ
ไม่ทราบว่าตีความผิดหรือเปล่า?….ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนถึงจะมีเลือกตั้ง ใช่หรือไม่
มองได้หลายมุมครับ!
จะมองว่าเป็นใบสั่งจากรัฐบาลก็ได้ เพราะยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ใช้วิธีย้อนเกล็ด เรียกร้องให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนที่จะไปเลือกตั้งมันซะเลย
จะบอกว่า เป็นใบสั่งจากประชาชนก็ได้ เพราะต้องทำให้ทุกอย่างอยู่ใต้ประชาชนก่อนถึงจะไปเข้าคูหาเลือกตั้งกัน
แต่การพูดลักษณะนี้ ไม่ต่างไปจากการข่มขู่
ถนนทุกสายขณะนี้เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง
กกต.ก็วางไทม์ไลน์ไว้แล้ว
นึกไม่ออกจริงๆ มีมูลเหตุจูงใจอะไรที่จู่ๆ คณะหลอมรวม ถึงลุกขึ้นมาประกาศว่าต้อง มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง
ถ้าจะเอาตามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจต้องอยู่ในฐานะ นายกรัฐมนตรีรักษาการนานกว่าที่คิดนะครับ
การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา ๑ ฉบับ ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ครึ่งปี
หากจะทำต้องรีบลงมือตั้งแต่วันนี้ เวลาถึงจะเฉียดฉิวกับวาระของสภาผู้แทนราษฎร ที่เหลืออยู่อีก ๖ เดือน คือปลายเดือนมีนาคมปีหน้า
แต่จนถึงวินาทีนี้ ไม่มีพรรคการเมืองไหนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเพิ่งจะเสร็จสมอารมณ์หมายกับการแก้ไขระบบเลือกตั้งหาร ๑๐๐ บัตร ๒ ใบไปไม่นาน
ไม่มีเหตุผลครับ จู่ๆ เรียกร้องให้สมาชิกพรรคการเมืองลาออก ด้วยการอธิบายว่าหลังเลือกตั้ง ต่อให้พรรคการเมืองชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ก็ไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลได้
มวลชนจะมาขวาง
มวลชนไหน ใครเป็นแกนนำ?
ทัศนคติแบบนี้เป็นอันตรายกับประเทศ
พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง แลนด์สไลด์ได้เกิน ๓๐๐ เสียง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนที่เห็นต่างเขามีสปิริตพอครับ ให้เวลารัฐบาลใหม่ได้ทำงาน
เหมือนที่เคยให้เวลารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงาน
หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ผลักดันกฎหมายนิรโทษโกงเหมาเข่ง ก็มีโอกาสอยู่ทำงานครบ ๔ ปี เพราะรัฐบาลไม่ไปสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งเสียเอง
ครั้งนั้น ทนายนกเขา ก็เป็นแกนนำประชาชนในการขับไล่รัฐบาลที่ต้องการล้างผิดให้ “ทักษิณ”
มันสมเหตุสมผล
ยังนึกภาพไม่ออกครับ หากเพื่อไทยได้เกิน ๓๐๐ เสียงแล้วรวมกับพรรคแนวร่วมอย่างก้าวไกล และพรรคอื่นๆ อีกสัก ๑๐๐ เสียง รวมเป็น ๔๐๐ เสียง
๒๕๐ ส.ว.จะไปขวางได้อย่างไร
ต้องยอมให้ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯ
ฉะนั้นต้องคิดให้เยอะครับ การกำหนดประเด็นที่จะเรียกร้องต้องให้ชัดเจน ไม่ใช่พูดในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเพื่อไปจุดประเด็นให้เข้าใจผิดกันในภายหลัง
เอาเข้าจริง ประชาชน เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกครั้งในวันหย่อนบัตรลงคะแนน แต่นักการเมืองมักทำให้วันนั้นคือวันเดียวที่อำนาจเป็นของประชาชน
หลังได้อำนาจไปครอบครอง นักการเมืองก็ทำตัวเป็นนายประชาชนแทบทุกครั้ง
อย่าว่าแต่นักการเมืองเลยครับ แกนนำมวลชนเองก็รู้สึกได้ถึงอำนาจ
เป็นอำนาจเหนือมวลชน
มีคนใช้เส้นทางนี้เป็นบันไดไต่เต้าสู่การเมืองมาเยอะแล้ว
วานนี้ (๓ ตุลาคม) “สุธรรม แสงประทุม” จากค่ายเพื่อไทย เป็นอีกคนที่ออกมาพูดแล้ว ไม่เข้าใจว่ามีเจตนาอะไร
“…พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กฎหมายฉบับนี้ ตกเป็นโมฆะ ย่อมส่งผลต่อการเลือกตั้ง ประชาชนอาจทำใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต่ออายุให้นายกรัฐมนตรีได้อยู่ต่อไป แต่เมื่อครบวาระของสภาผู้แทนราษฎร ๔ ปี ย่อมต้องมีการเลือกตั้ง หรือในกรณียุบสภาหลังการประชุมเอเปก จะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
ดังนั้น กกต.จะต้องแสดงความชัดเจนว่า จะทำอย่างไร ถ้ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจะรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งอย่างไร กกต.จะต้องสร้างความมั่นใจให้เห็นว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นและเป็นโอกาสให้ประชาชนมีความหวังในการเปลี่ยนรัฐบาล…”
ฟอร์มไม่ตกจริงๆ!
การปล่อยข่าวให้ประชาชนไม่พอใจศาลรัฐธรรมนูญ คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า
แม้ในทางทฤษฎี มีความเป็นไปได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ขัดรัฐธรรมนูญ
แต่มันเป็นความรับผิดชอบของรัฐสภา เพราะมีหน้าที่ออกกฎหมาย
เมื่อสภาออกกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ สภาก็ต้องรับผิดชอบ
การตั้งธงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง เพื่อให้ศาลเป็นศัตรูกับประชาชน ไม่ต่างจากการทำลายระบบเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองที่ตัวเองจะได้รับ
ครับ…เมื่อมีคนพูดถึงการเลือกตั้ง อาจไม่มี หรือถูกเลื่อนออกไปอีก ขณะที่สังคมโดยรวมรับรู้ถึงไทม์ไลน์ที่ กกต.วางไว้แล้ว
ไม่ใช่ตีตนไปก่อนไข้
แต่ตีรวนมากกว่า
ฉะนั้นที่จะไม่ได้เลือกตั้งกันก็คงจะมีกรณีเดียว
ป่วนจนเลือกตั้งไม่ได้