ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลมีการจัดกิจกรรมสัมนาเครือข่ายพรรคก้าวไกล ร่วมกับทีมจังหวัดทั่วประเทศ หนึ่งในหัวข้อที่เราให้ความสำคัญในครั้งนี้ คือ “ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสำหรับนักการเมือง” (Gender Equality for Politicians) โดยหวังว่าการถอดบทเรียนครั้งนี้ จะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยรวมถึงการเมืองสร้างสรรค์ได้ในอนาคต
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มต้นการบรรยายด้วยการทำความเข้าใจระดับพื้นฐานของปัญหาทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเหมารวมทางเพศ ความคิดชายเป็นใหญ่ ไปจนถึงการนิยามเรื่องเพศ เพื่อให้ภาพความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
“ความเข้าใจต่อเรื่องเพศไม่ได้มองแค่สรีระและเพศกำเนิดอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของความคิดและการนิยาม ไปจนถึงการแสดงออกทางเพศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มีวิธีปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อนเลย หากเขาแสดงออกแบบไหน ก็ปฏิบัติกับเขาตามนั้น”
“การตระหนักรู้ทางเพศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การยอมรับเพศต่างๆ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม”
นอกจากการบรรยายดังกล่าว เครือข่ายและทีมจังหวัดของพรรคก้าวไกล ยังได้ร่วมเวิร์กช็อป แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เคยถูกคุกคามทางเพศและถูกด้อยค่าด้วยวาจาอีกด้วย
ความรู้เรื่องการคุกคามทางเพศ
นิยามการคุกคามทางเพศ
- การกระทำหรือการแสดงออกในทางเพศ ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ผ่านการใช้สายตา ท่าทาง เสียง คำพูด ร่างกาย หรือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการกระทำนั้นรู้สึกเดือดร้อนรำคาญ อึดอัด ไม่พอใจ เครียดหวาดระแวง หวาดกลัว และรู้สึกไม่ปลอดภัย
รูปแบบการคุกคามทางเพศ
- ทางสายตาหรือท่าทาง
- ทางวาจา
- ทางร่างกาย
- ผ่านช่องทางการสื่อสาร
เราสามารถทำอะไรได้บ้าง หากโดนคุกคามทางเพศ
- แสดงออกถึงความไม่พอใจ ถอยห่างจากผู้คุกคาม
- บอกให้ผู้คุกคามหยุดกระทำและเรียกให้ผู้อื่นช่วย
- บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการบันทึกเสียง ภาพ หรือวิดีโอ (หากทำได้)
- บันทึกเหตุการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรทันทีที่เกิดเหตุการณ์ โดยจดบันทึกวัน เวลา สถานที่ และคำบรรยายสั้นๆ
- แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้บุคคลที่ไว้ใจทราบ
- แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บังคับบัญชา ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือฝ่ายกฎหมาย
สำหรับพรรคก้าวไกล “การคุกคาม การล่วงละเมิด การลวนลามทางเพศ” นับเป็นความผิดทางวินัยขั้นร้ายแรง ระวางบทลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด