ในไม่กี่วันมานี้ หลายคนคงได้เห็นประเด็นที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นั่งรถไฟเปรียบเทียบฝั่งไทย-มาเลเซีย ชวนให้เราสงสัยว่าทำไมประเทศไทยถึงยังย่ำอยู่กับที่?
ในการเดินทางครั้งนี้ คือภารกิจแรกของพิธาหลังปิดสมัยประชุมสภา นั่นคือเดินทางไปเมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับนาย Chow Kon Yeow มุขมนตรี ผู้นำฝ่ายบริหารรัฐปีนัง สภาสภาอุตสาหกรรมรัฐปีนังและสถาบัน Penang Institute ที่เป็นสถาบันการวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐปีนัง
บทเรียนการเดินทางในครั้งนี้ไม่ใช่แค่รถไฟเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่โดดเด่นของรัฐปีนังคือเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทคระดับโลก ได้รับสมญานามว่า “ซิลิคอนวัลเลย์” แห่งตะวันออก
พิธาถอดบทเรียนการพัฒนาโดยเปรียบเทียบของรัฐปีนังกับประเทศไทย ว่ามีบางส่วนที่ “เหมือน” และบางส่วนที่ “ต่าง”
“ความเหมือน” อยู่ที่ทั้งปีนังและไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E&E
- สำหรับปีนังอุตสาหกรรม E&E มีมูลค่าการส่งออกปีละ 3 ล้านล้านบาท จ้างงาน 300,000 คน
- สำหรับประเทศไทย E&E ก็สำคัญมากเช่นกันด้วยมูลค่าส่งออกปีละ 2 ล้านล้านบาท จ้างงาน 750,000 คน
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ไทยและปีนัง เริ่มสร้างมา 40 ปีก่อนเหมือนกัน เริ่มสร้างจากการเป็นฐานการประกอบชิ้นส่วนที่มูลค่าเพิ่มต่ำ และเน้นแข่งขันกับโลกด้วยราคาแรงงานที่ต่ำ
- แต่เมื่อจีนและเวียดนามเปิดประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ทั้งไทยและปีนังสูญเสียศักยภาพการแข่งขันเรื่องค่าแรงไปช่วงหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ในส่วน “ความต่าง” ปีนังสามารถปรับตัว ยกระดับอุตสาหกรรม และคว้าโอกาสจากสงครามการค้าและวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์จนสามารถดึงนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมาได้มหาศาล ในขณะที่ไทยยังย่ำอยู่กับที่
- ในปี 2564 การลงทุนในปีนังเติบโตถึง 440% สามารถกลับมาเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทคระดับโลกได้อีกครั้ง
- มีโครงการลงทุนที่เป็นข่าวเช่น การลงทุนโรงงานประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ของ Intel มูลค่า 2.5 แสนล้านบาท
จากการแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้ พิธาได้เห็นความสำเร็จของการสร้างอุตสาหกรรมในปีนังว่าอยู่ที่ “การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม” และ “การกระจายอำนาจ”
“นโยบายส่งเสริมการลงทุนของปีนังนับว่ามีความจำกัด เนื่องจากปีนังไม่สามารถกู้เงินได้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง และมาตรการดึงดูดการลงทุนก็มีข้อจำกัดเพราะรัฐบาลกลางพยายามดึงการลงทุนไปลงที่รัฐอื่น ปีนังจึงต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและสถาบันที่สร้างการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมป้อนอุตสาหกรรมใหม่ๆ”
นอกจากนี้ เมื่อพิจาณาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นจุดเด่นของทั้งไทยและมาเลเซีย พิธามองเห็นโอกาสที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันได้
“สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปมาเลเซียก็คืออิเล็กทรอนิกส์ สินค้าส่งออกอันดับ 1 จากมาเลเซียมาไทยก็อิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน มาเลเซียเป็นผู้ผลิต Magnetic Disk มาผลิตเป็น Hard Disk Drive ส่งให้ไทยไปขายทั่วโลก แต่ถ้าเราจะยังเชื่อมโยงกันมากขึ้นต่อไปในอนาคต ประเทศไทยก็ต้องพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน ความเร็วของบริการภาครัฐ กฎระเบียบภาครัฐ และศักยภาพบุคลากร เพื่อให้ตอบโจทย์นักลงทุนไฮเทค”
“ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ปีนังเป็นศูนย์กลางความเจริญของมาเลเซียมานับร้อยปีจากการเป็นท่าเรือปลอดภาษีของอาณานิคม เมื่อมาเลเซียรวมประเทศและได้เอกราช รัฐบาลกลางพยายามสร้างกัวลาลัมเปอร์เป็นศูนย์กลางขึ้นมาแทนปีนังและยกเลิกสถานะท่าเรือปลอดภาษีของปีนังในปี 2512 ทำให้ปีนังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เกิดวิกฤติสมองไหล การว่างงานพุ่งสูงถึง 15%”
“ในปี 2515 ปีนังจึงได้พยายามรื้อฟื้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จได้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีข้อจำกัดมากมายในการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนโครงสร้าง ลงมือสร้างประเทศที่มีความหวังร่วมกัน เราก็สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ได้ ดังที่ปีนังสามารถทำได้ครับ” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูล พรรคก้าวไกล – Move Forward Party