นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้เห็นชอบ
1) แนวทางขอความยินยอมเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และ 2) แนวทางในการแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการออกแนวปฏิบัติ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ช่วยสร้างความชัดเจนในทางปฏิบัติ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง และเป็นแนวทางปฏิบัติ ที่ไม่ได้เน้นการลงโทษ
ขณะนี้ ได้มีการออก กฎหมายลำดับรอง รวมทั้งกฎระเบียบ แนวปฏิบัติและข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปแล้ว รวม 17 ฉบับ รวมทั้งประกาศการผ่อนปรน ต่างๆ สำหรับ เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน ตลอดจน ประกาศเกี่ยวกับการลงโทษทางปกครอง ที่คำนึงถึงเจตนา และให้มีการไกล่เกลี่ย ตักเตือน
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 มีเจตจำนงชัดเจน ที่ต้องการให้ PDPA เกิดประโยชน์กับประชาชน ในขณะเดียวกัน มุ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายน้อยที่สุด เน้นการให้ความรู้ สร้างความชัดเจนของ กม. และตักเตือน ไม่เน้นการลงโทษ จากการเร่งรัดและติดตาม
ทราบว่า ขณะนี้ มี กม. ลูก รวม 17 ฉบับ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งใน 17 ฉบับ รวมถึง 1) แนวทางขอความยินยอมเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และ 2) แนวทางในการแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 2 ฉบับ ที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้เห็นชอบและเผยแพร่แล้ว
โดยแนวทางทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว จะช่วยสร้างความชัดเจนในทางปฏิบัติ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับ รายละเอียด แนวทางขอความยินยอมฯ และ แนวทางในการแจ้งวัตถุประสงค์ฯ ดังกล่าวสามารถดูฉบับเต็มได้จากที่เผยแพร่ทาง facebook pdpc thailand
“ในเชิงนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรามุ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายน้อยที่สุด สะท้อนการเริ่มบังคับใช้ในช่วงแรกของกฎหมายฉบับนี้ ที่ไม่ควรเป็นภาระเกินไป เน้นการให้ความรู้ และเร่งสร้างความชัดเจนในทางปฏิบัติ ไม่เน้นการลงโทษ” รัฐมนตรีชัยวุฒิ กล่าว