“พระปรางค์วัดอรุณฯ” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

๓๑ พค.-๒ มิย.นี้
สส.จะถกพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๖ กันในสภา
ก็เป็นวัตรปฎิบัติประจำปี
แต่ปีนี้อึกทึกเป็นพิเศษ ฝ่ายค้านคุยว่ารวบรวมเสียงได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาลแล้ว จะโหวตคว่ำพรบ.งบฯ
ถ้าคว่ำได้จริง รัฐบาลมี ๒ ทางเดินตามรัฐธรรมนูญคือ
“ยุบสภา “หรือ “ลาออก”!
ชาวบ้านเลยสนใจกันใหญ่ จากโปรแกรมธรรมดากลายเป็นโปรแกรมทองไป
สำหรับผมเฉยๆ รัฐบาลอยู่ล้านปีไม่มีหรอก คนเราก็เหมือนกัน ฉะนั้น อยากเป็นนั้นได้ แต่ถ้าหื่นกระหาย “ชิงสุกก่อนห่าม” จนเกินเหตุ
ระวัง “จะถูกหาม” ไปสู่ที่ชอบ ก่อนรัฐบาลด้วยซ้ำ!

ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว จะต้องไปให้ราคากับการคว่ำ-การหงายเพื่ออะไร รัฐบาลนั้น เมื่ออยู่ ก็ทำหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดินไป
เมื่อต้องไป ไม่ว่าจะไปอยู่ในสถานะ-อาชีพไหน……
แค่ไม่เนรคุณแผ่นดินอันเป็นชาติกำเนิด ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดินเหมือนกัน

โดยสัจธรรม ในโลกนี้ “ไม่มีอะไรบังเอิญ” ทุกอย่างถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว เพียงแต่ให้เรารู้ได้ไปแต่ละวันเท่านั้น

ฉะนั้น ร้อนรนไปใย วิตกกังวลไปเพื่อใด?
คว่ำได้ ก็คว่ำไป คว่ำไม่ได้ รัฐบาลก็อยู่ต่อไป มันก็แค่นั้น ตามปฏิทินคอมพิวเตอร์จักรวาล

นี่ก็เป็นการทำงบประมาณ “ปีสุดท้าย” ของเทอม ๔ ปี รัฐบาลแล้วมิใช่หรือ?
ถ้าฝ่ายค้านมีน้ำยาซัก “ครึ่งราคาคุย” ละก็ รัฐบาลคงไม่อายุวัฒนะมาจนครบ ๔ พรรษาหรอก

ครบพรรษาแล้ว เผลอๆ “ลุงตู่” จะสวดญัตติเป็น “หลวงลุงตู่” บวชต่อด้วยซ้ำ
ด้วยญาติโยมที่ยึดมั่นในชาติ-พระศาสนา-พระมหากษัตริย์ และการพัฒนาประเทศ
จะรุมนิมนต์ให้ต่ออีกซัก ๔ พรรษา ในเลือกตั้งใหญ่ปีหน้านั่น ทำเป็นตีปีบว่า “ชาวบ้านเบื่อ” ไปเหอะ!

ฉะนั้น ๓ มิย. “โหวตพรบ.งบฯ” จะคว่ำก็ดี-จะหงายก็ดี
“หมาเห่าใบตองแห้ง” ตามเคย!

แฟนๆ ประชุมสภา ก็เปิดโทรทัศน์รัฐสภา “ช่อง ๑๐” ตามดูได้ เขาถ่ายสดๆ ซิงๆ ตลอดรายการ

วันนี้ คุยลมเพ-ลมพัดดีกว่า เพจ “ตึกรามบ้านช่อง” ที่เขาถ่ายอาคารบ้านเรือนและโบราณสถานทรงเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละยุคสมัย เขาโพสต์รูป “พระปรางค์” วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ลงเฟซ

พระปรางค์วัดอรุณฯ นี่ เอกลักษณ์ประเทศไทยในสากลโลกจริงๆ เห็นปุ๊บ รู้ปั๊บ นี่ประเทศไทย

ในเฟซผม แฟนๆ โพสต์รูปพระปรางค์วัดอรุณในแง่มุมต่างๆ มาให้ดูแทบทุกวัน ผมก็ตะลึงแลไปทุกครั้ง

ยิ่งเพ่ง ยิงพิศ ยิ่งเห็นความวิจิตรเป็นมหัศจรรย์ จนฉงนฉงายด้วยงงงวยว่า บรรพบุรุษของเราแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสร้าง หรือว่า องค์อินทร์จากเทวานิรมิตรกันแน่?

มองไม่รู้เบื่อ พินิจแต่ละครั้ง ลึกซึ้ง ดูดดึงจิตใจ ไปในแต่ละมิติไม่ซ้ำกัน

อย่างรูปที่ “ตึกรามบ้านช่อง Prajuab Sangaroon” โพสต์ ตามที่ผมพูดถึง เป็นอีกมิติ เห็นแล้วต้องนำมาคุยนี่แหละ

“ร้อยคำพูดไม่เท่าหนึ่งภาพ” แต่นั่นแหละ นำรูปเขามาลงประกอบก็เกรงว่าจะละเมิด
เอาเป็นว่าด้วยเจตนาอันมิใช่เพื่อการค้า ขออนุญาตคุณ “ตึกรามบ้านช่อง Prajuab Sangaroon” สักครั้งแล้วกัน

นึกย้อนไปปี ๒๕๖๐……..
ที่กรมศิลปาการบูรณะซ่อมแซมพระปรางค์วัดอรุณเสร็จใหม่ๆ ปรากฏว่า ปัญญาชนและคนโซเชียล “ใช้ความรู้สึก” แทน “ความรู้”

ตั้งตนเป็นกูรู “วิพากษ์-วิจารณ์” ถึงขั้นด่าสาดเสีย-เทเสีย จะยกตัวอย่างที่ปรากฏเป็นหัวข้อข่าว จากสำนักไหนๆ บ้าง อย่าไประบุเลย ก็ประมาณนี้
……………………..
ชาวเน็ตจวกบูรณะ “พระปรางค์วัดอรุณ” จากยักษ์เข้มกลายเป็นยักษ์การ์ตูน
……………………
เสียดาย ! ม.จ.จุลเจิม โพสต์ FB การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณ สุดชุ่ย!?
…………………..
สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์บูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ หลังเป็นโทนสีขาว …
………………………..
คนดัง น้ำตาท่วมใจ พระปรางค์วัดอรุณฯ ของเก่าล้ำค่าที่หายไป!

ผ่านไปหลายวันแล้ว ยังโคตรตะลึงกันไม่หายทั้งแผ่นดิน!!! กับผลงานการบูรณะโบราณสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง พระปรางค์วัดอรุณฯ จากกรมศิลปากร

ผลงานมันฟ้อง!!!ว่าดีหรือแย่อย่างไร ระยะเวลาบูรณะกว่า 5 ปี งบประมาณ 130 ล้านบาทที่ทุ่มลงไป คุ้มค่าแค่ไหนถามใจเธอดู…….ฯลฯ…….

จนเมื่อ ๑๖ สิงหา.๖๐
“นายอนันต์ ชูโชติ” อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงเป็นวิทยาทานแด่กูรูทั้งหลาย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่า

“พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถานเก่าแก่ มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์

และปัจจุบันพระปรางค์เปรียบเสมือนมหาธาตุของ กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสัญลักษณ์ที่นานาชาติได้รับรู้ถึงความสง่างาม
ความสำคัญ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๖ กรมศิลปากรตรวจพบว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีความชำรุดด้วยเนื้อปูนเสื่อมสภาพตามกาลเวลา

โดยพบว่า เศษชิ้นส่วนของปูนปั้นเทวดาทรงม้าได้หลุดร่วงลงมา จึงได้สำรวจความเสียหายและสภาพของโบราณสถาน

พร้อมจัดทำโครงการบูรณะพระปรางค์และพระมณฑปวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ขึ้น โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๐

แนวทางในการบูรณะ กรมศิลปากรยึดมั่นในหลักการตามสากล กล่าวคือ รักษารูปแบบ ฝีมือช่าง และวัสดุ
เพื่อรักษาหลักฐานตามประวัติศาสตร์ที่มีการบูรณะซ่อมแซมองค์พระปรางค์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ถึงปัจจุบัน สิ่งที่ชำรุดก็ให้จัดทำขึ้นใหม่ โดยเลียนแบบของเดิม พร้อมกับมีการบันทึกหลักฐานของงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไว้ทั้งก่อนการดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังการดำเนินการ

โดยมีการดำเนินการอนุรักษ์ ในส่วนพื้นผิวปูนฉาบและกระเบื้องประดับพระปรางค์ ดังนี้

๑. ทำความสะอาดพื้นผิวตะไคร่น้ำที่ก่อให้เกิดคราบดำแก่องค์พระปรางค์ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เนื้อปูนในระยะยาวต่อไป

๒. กะเทาะปูนบริเวณที่ผุเปื่อยหรือเสื่อมสภาพออก ทำความสะอาด แล้วฉาบปูนใหม่เสริมความมั่นคง โดยใช้ปูนหมักตามกรรมวิธีโบราณ ซึ่งสีของเนื้อปูนดังกล่าวเป็นสีขาวโดยธรรมชาติ

๓. เมื่อดำเนินการบูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ภาพรวมขององค์พระปรางค์จึงเป็นสีขาว

อนึ่ง การทำความสะอาดคราบดำจากตะไคร่น้ำนั้น ทำให้เส้นรอบนอกของลวดลายกระเบื้องที่ดูชัดเจนจากคราบดำเหล่านั้นลดลง

กรมศิลปากร ได้ดำเนินการศึกษาลวดลายกระเบื้องเคลือบที่ใช้ในการประดับองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ โดยการกระสวนลาย เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินงานบูรณะกระเบื้องที่มีความชำรุดเสียหายมาก หรือส่วนที่หลุดล่อนหายไป และจำแนกกระเบื้องจากลักษณะดังนี้

๑. ตำแหน่งที่พบ (เช่น อยู่ในชั้นใต้ผิวปัจจุบันหรือพบกระจายอยู่ทั่วไป)

๒. ลักษณะกายภาพทั่วไป

๓.ลักษณะเนื้อดินและอุณหภูมิ (เนื้อดินเผา/earthenware,เนื้อแกร่ง/stoneware,เนื้อกระเบื้อง/Porcelain)

๔. ลักษณะลวดลายสีเคลือบ

จากนั้นจึงดำเนินการคัดเลือกชิ้นงานที่มีความสมบูรณ์เพื่อเป็นต้นแบบการทำวัสดุทดแทนด้วยเครื่อง 3D LASER SCAN และนำส่งโรงงานผลิตตามลักษณะลวดลาย, เนื้อดิน และสีเคลือบดั้งเดิมต่อไป

ในส่วนถ้วยชามโบราณ มิได้มีการแกะหรือนำชิ้นส่วนดั้งเดิมออกจากพระปรางค์ แต่ได้มีการจัดทำวัสดุทดแทนขึ้นใหม่ เพื่อประดับเฉพาะส่วนที่หลุดหายไป ซึ่งได้มีการศึกษาลวดลายและวัสดุเปรียบเทียบจากชิ้นงานดั้งเดิม

อนึ่ง การดำเนินงานอนุรักษ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ได้มีการเก็บข้อมูลทั้งที่เป็นข้อมูลภาพนิ่ง ภาพถ่ายแบบ ๓ มิติ และลายเส้นของพระปรางค์ประธานและองค์ประกอบทั้งหมด
……………………..

ครับ…..
มาถึงทุกวันนี้ บรรดาปัญญาชนและกูรูเน็ต ที่ใช้ความไม่รู้ “อวดเปรื่องปราด” ตวาดด่าว่าบูรณะสุดชุ่ย เงียบกริบ!
บูรณะเสร็จใหม่ๆ ดูขาวสะอาดอล่องฉ่อง ก็ด่ากันใหญ่ ว่าผิดเพี้ยนจากเดิม

พอนานวันไป กระเบื้องเคลือบ น้ำปูน คลุกเคล้าดินฟ้าอากาศ อีกทั้งปราศจากตะไคร่คลุม
กระเบื้องเคลือบ ถ้วยชามและเนื้อดินเดิม ก็พรรณราย ฉายแสงระยิบ ระยับ สลับสีตามแสงและลวดลายเดิม เจิดจ้า ปรับเปลี่ยนสุดมหัศจรรย์พันลึกในแสง-เงามิสิ้นสุด ด้วยปฏิกริยาสัมผัสอุณหภูมิดินฟ้าอากาศ

นี่คือบทสะท้อน “สังคมไทย”
ที่ใช้ “ความรู้สึก” แทน “สติปัญญา” ชักลากสังคมชาติกันทุกวันนี้!

 



Written By
More from plew
เหนือ-อีสาน “ของตาย” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ประเทศไทย มันเป็นอะไรที่ “เหนือตำรา” เสมอ! ย้อนมองไปต้นปี ๖๕ ประเทศยังผงาบๆ ด้วย “สารพัดวิกฤติ” คาห้องไอซียู
Read More
0 replies on ““พระปรางค์วัดอรุณฯ” – เปลว สีเงิน”