ไม่อยากเสี่ยงหัวใจวาย ต้องเช็กความพร้อมหัวใจก่อนออกกำลังกาย 

ลดความเสี่ยงหัวใจวายและหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ด้วย 4 วิธีเช็คหัวใจก่อนออกกำลังกาย เพราะกว่า 50ของผู้ป่วย ไม่เคยรู้ตัวว่ามีโรคหัวใจแอบแฝง 

การออกกำลังจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นกะทันหันและหัวใจวายได้ในคนที่มีความเสี่ยงหรือมีภาวะโรคหัวใจ โดยร้อยละ 50 ของคนกลุ่มนี้มักไม่รู้ตัวมาก่อนว่ามีโรคหัวใจซ่อนอยู่ ดังนั้น คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายหนัก เช่น การวิ่งมารอธอน ฟุตบอล เป็นต้น จำเป็นต้องตรวจคัดกรองโรคหัวใจ รวมถึงตรวจดูความตีบของหลอดเลือดหัวใจที่อาจซ่อนอยู่ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตกะทันหันในขณะออกกำลังกาย

แพทย์หญิงทรายด้า บูรณะสิน อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือภาวะที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหันโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ส่วนภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) คือภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงและไม่สามารถปั๊มเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งทั้ง 2 ภาวะสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย 

“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและภาวะหัวใจวายสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีปัญหาโรคหัวใจแต่กำเนิด มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือมีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ ซึ่งหลายคนไม่รู้ตัวและไม่เคยตรวจคัดกรอง ยิ่งถ้าไปออกกำลังกายหนัก ๆ จนทำให้หัวใจทำงานหนักมากเกินไป ก็อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้” แพทย์หญิงทรายด้ากล่าว 

สำหรับการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจก่อนออกกำลังกาย แบ่งได้เป็น 4 วิธี ดังนี้  

1. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test : EST) หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าการวิ่งสายพาน แต่จะไม่สามารถแสดงผลได้หากมีอาการตีบเพียงเล็กน้อยและหัวใจยังสูบฉีดเลือดได้ดี  

2. การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery calcium scoring) คือการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจหาหินปูนที่บริเวณหลอดเลือดแดง หากพบค่าที่สูงกว่า 400 มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในระยะเวลา 2 – 5 ปีข้างหน้า  

3. ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (coronary CCTA) อาจพิจารณาทำในบุคคลที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจสูงมาก เช่น คำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 10 ปีของท่านแล้วมากกว่า 10% หรือมีประวัติในครอบครัว หรือมีภาวะไขมันโลหิตสูงจากพันธุกรรม และต้องการออกกำลังกายแบบเข้มข้น

4. การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization Angiography : CAG) คือการสอดสายสวนขนาดเล็กผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปที่หลอดเลือดหัวใจ แล้วฉีดสารทึบรังสีในหลอดเลือดหัวใจและเอกซเรย์ดูตำแหน่งที่ตีบ โดยแพทย์สามารถรักษาด้วยการบอลลูนขยายหลอดเหลือดหัวใจและใส่ขดลวดค้ำยัน (stent) ได้ทันทีเมื่อพบตำแหน่งที่ตีบ

สำหรับการตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจและการสวนหัวใจ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเพิ่มในคนที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หากพบความผิดปกติแพทย์จะรักษาด้วยการรับประทานยา ขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีใส่ขดลวด (Coronary Stent Implantation) ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ การตรวจพบความผิดปกติของโรคหัวใจตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยให้การรักษาไม่ซับซ้อนและผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง รวมถึงสามารถเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาวะหัวใจได้

ทั้งนี้ แพทย์หญิงทรายด้ายังแนะนำการดูหัวใจให้แข็งแรงในผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่ไม่ไขมัน น้ำตาลและโซเดียมสูง งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายตามความเหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด และที่สำคัญคือตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองโรคและความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ 


Written By
More from pp
ไทรอยด์…ปล่อยไว้อาจหัวใจวาย อันตรายถึงชีวิต  
ระบบเผาผลาญผิดปกติ อารมณ์แปรปรวน ผมร่วง สัญญาณเบื้องต้นของโรคไทรอยด์ ต้องรีบรักษาก่อนลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อน  
Read More
0 replies on “ไม่อยากเสี่ยงหัวใจวาย ต้องเช็กความพร้อมหัวใจก่อนออกกำลังกาย ”