กองทุนสื่อฯ หนุนคนไทยสร้างกระแสฟีเวอร์ให้กลายเป็น Soft power ด้วย 3 ขั้นตอน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า เดินหน้าผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ

28 มีนาคม 2565-ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงปรากฎการณ์ Soft power ผ่านสื่อเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ว่า ปัจจุบัน มีการถูกนำมาใช้ เช่น “ลิซ่า” ซึ่งเป็นแม่เหล็กในวงการสื่อ การที่ลิซ่าสื่อสารออกมาและมีแฟนคลับก็ทำให้เกิดกระแสการทำตามบุคคลชื่นชอบ

ซึ่งเป็นวิธีการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างเรื่องราวจากสิ่งที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในไทยมีต้นทุนนี้อยู่มากทำให้เกิดความได้เปรียบด้านการแข่งขันทางการค้า

โดยวิธีการสร้าง Soft Power ขั้นตอนแรกเริ่มจากการเล่าเรื่องราวสร้าง Content จากนั้นเป็นกระบวนการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ทั้งรูปแบบละคร ภาพยนตร์ กิจกรรม เช่น กระแสแฟนบอล กระแสนิยมแฟชั่นบันเทิงเกาหลี ซึ่งมีสื่อเป็นหัวใจหลักที่ข้ามไปไม่ได้

และขั้นตอนที่ 3 ต้องมีผลลัพธ์ไปกระทบเชิงบวกต่อคนจำนวนมาก ซึ่ง Soft Power ก็มุ่งที่จะสร้างผลกระทบในเชิงนานาชาติอย่างไร้พรมแดน ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่ามหาศาลจากสิ่งที่มีคุณค่า ดังนั้นหากขาดขั้นตอนนี้ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นเพราะ Soft Power

ทั้งนี้ ในประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการขั้นที่ 2 โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการทางหนึ่ง โดยเราได้พยายามมองหาการทำละครดีๆที่จะสามารถสร้างจากต้นทุนทางวัฒนธรรมได้ รวมถึงการสร้างคอนเท้นท์จากอาหาร อาชีพ เช่น ที่มาท่าทางของมวยไทยไปพร้อมกับการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยคนไทยมีความสามารถในการสร้างคอนเทนท์อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจจะจัดการไม่เป็นระบบ

ซึ่งทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และกระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้รวมไปถึงภาครัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อรองรับภาคการแข่งขันที่ต่างจากแบบเดิม ผลที่ได้กลับมาเองก็สะท้อนตามนโยบายระดับชาติที่ต้องการสร้างมูลค่า สร้างเม็ดเงินเศรษฐกิจจากสิ่งที่เป็นมิติทางวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์

ทั้งนี้ กองทุนฯ ยังได้ขอร่วมสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งให้คนไทยหันมาทำสื่อรูปแบบ Soft Power เนื่องจากคนไทยเป็นคนที่มีความสามารถตั้งแต่การเล่าเรื่องราวในพื้นที่ในชุมชนของตัวเองจากต้นทุนที่มีอยู่ ให้กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยนำมาเล่าผ่านสื่อที่ทุกคนก็สามารถทำได้เองอยู่แล้วในโลกสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งอาจทำให้ชีวิตเปลี่ยนกลับมาเป็นรายได้ตอบแทน

“เชื่อว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Soft Power ได้ โดยเริ่มต้นจากเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดและมีความชื่นชอบหรือรอบรู้ผ่านการสื่อสารที่มีหลายรูปแบบในโลกยุคดิจิตอลซึ่งสามารถสื่อสารไปได้ทั่วโลกหากมีเนื้อหาดีก็ได้เกิดแน่”

ทั้งนี้ ดร.ธนกร ยังมองว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้ประเทศไทยลุกขึ้นมาทำSoft power ได้อย่างจริงจัง คือการต้องมีองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ หากมีองค์ความรู้อยู่แล้วก็เป็นต้นทุน ที่จะทำให้เริ่มต้นได้เร็วกว่า ส่วนตัวผู้ผลิตเองก็ต้องมีศักยภาพในการผลิตซึ่งเชื่อว่าคนไทยมีสิ่งนี้ พร้อมกับอยากให้มีการผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน



Written By
More from pp
กลุ่มทรู ผนึก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เชื่อม “โครงการครัวปันอิ่ม ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” สู่ชุมชนสวนอ้อย จุดรวมแหล่งธารน้ำใจ พร้อมแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ปลุกพลังให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเที่ยงของทุกวัน เต็นท์สีขาวบริเวณทางเข้าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ได้กลายเป็นจุดส่งมอบอาหารแก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19
Read More
0 replies on “กองทุนสื่อฯ หนุนคนไทยสร้างกระแสฟีเวอร์ให้กลายเป็น Soft power ด้วย 3 ขั้นตอน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า เดินหน้าผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ”