รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย แรงงานชาวลาว กว่า 2 ร้อยคน ที่เข้ามาทำงานตาม MoU เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อกักตัว ณ สถานที่กักกัน จ.หนองคาย ก่อนนายจ้างในประเทศรับตัวไปทำงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (วันที่ 28 มีนาคม 2565) แรงงานสัญชาติลาวที่เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU จำนวน 236 คน ได้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย เพื่อเข้ากักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ) ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จำนวน 2 แห่ง
ประกอบด้วยโรงแรมแกรนด์พาราไดซ์ หนองคาย จำนวน 158 คน และห้องเช่าเรือนเพชร (บมจ.ก้องพัฒนโชค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) จำนวน 78 คน รวมทั้งสิ้น 236 คน มีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 6,900 – 7,500 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับการเลือกสถานที่กักตัว มีรถของสถานกักตัวรับจากด่านมาที่พัก พร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ โดยทั้งหมดต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข
เนื่องจากได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็มจากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดจะให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 138 คน จังหวัดสระบุรี 78 คน และจังหวัดนนทบุรี 20 คน
“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกะทรวงแรงงาน ห่วงใยนายจ้าง สถานประกอบการที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ท่านได้กำชับให้กระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรัดกุม เข้มงวด และครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อนายจ้าง สถานประกอบการในประเทศไทยมีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ รับสถานการณ์โควิด – 19 ที่กำลังคลี่คลาย
ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายกรมการจัดหางานเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี โดยขณะนี้มีการเตรียมสถานที่กักกันสำหรับแรงงาน 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานตาม MoU ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว มุกดาหาร ตาก ระนอง และหนองคาย สำหรับจังหวัดหนองคายที่แรงงานชาวลาวเดินทางเข้ามาในวันนี้มี ศูนย์ OQ จำนวน 12 แห่ง เป็นจำนวนห้องพักรวม 763 ห้อง สามารถรองรับผู้กักตัวสูงสุด 1,847 คน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการที่ต้องการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU มีขั้นตอน ดังนี้
1.นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ แบบ นจ.2 หนังสือแต่งตั้ง สัญญาจ้างงาน และเอกสารนายจ้าง
2.การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางาน/สจจ. สจก. 1-10 มีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง
3. ประเทศต้นทางรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง
4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนแรงงานต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
4.1 บัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่ประเทศต้นทางรับรอง
4.2 แบบ บต.31 หรือ บต.33 พร้อมเอกสารและหลักฐาน
4.3 หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วงไม่เกิน 3 เดือน
4.4 หนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการกักตัว ได้แก่ ค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจโรคโควิด -19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงกรณีป่วยฉุกเฉินหรือโรคอื่นระหว่างกักตัว/กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19
4.5 หลักฐานยืนยันว่ามีสถานที่กักตัวตามที่ราชการกำหนด
4.6 หลักฐานที่ยืนยันว่ามียานพาหนะเพื่อรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว
4.7 กรณีเข้าประกันสังคมซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย 4 เดือน
4.8 กรณีเข้าประกันสังคม นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน
– ชำระค่าคำขอและค่าใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท
– วางเงินประกัน (กรณีนายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง) หลักประกัน 1,000 บาท/แรงงานต่างด้าว 1 คน
5. กรมการจัดหางานมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่แรงงานต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยจะอนุญาตให้นำเข้าตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว
6.เมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR และ ATK (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 3 เดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้ (ไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น และหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักกัน)
7. แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรคเป็นขั้นตอนแรก หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะส่งกลับประเทศต้นทาง เพราะไม่สามารถอนุญาตให้ทำงานได้ตามกฎหมาย หากไม่พบเป็นโรคต้องห้ามจะเข้าสู่กระบวนการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT – PCR ดังนี้
1. แรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง
2. แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แก่คนต่างด้าว
ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด – 19 ให้เข้ารับการรักษา โดยนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่นายจ้างซื้อไว้ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าว และให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ
8. แรงงานต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว รับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่แรงงานต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ