17 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (คณะกรรมการ สสส.) ครั้งที่3/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งภายหลังการประชุม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญการประชุม ดังนี้
นายอนุทิน ได้ ขอบคุณที่ สสส. ร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ในการจัดงาน “Thailand International Health Expo 2022” ระหว่างวันที่ 17-20 มี.ค. 2565 ที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน
ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะได้แสดงถึงศักยภาพประเทศไทยที่มีความพร้อมในการเป็นเมืองด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จากความสามารถ มีนวัตกรรมด้านการแพทย์ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 จนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ
รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า สสส. จะมีบทบาทสำคัญในแผนงานต่างๆ ของรัฐบาล เช่นกรณีของการท่องเที่ยว ที่แม้ขณะนี้จะเป็นช่วงเวลาที่มีสถานการณ์สงครามในต่างประเทศแต่ในเชิงภูมิศาสตร์แล้วประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการห้ามบิน ทำให้การเดินทางจากหลายภูมิภาคมายังประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง ตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไม่ได้มีต้นทุนที่สูงมากนัก
ดังนั้น หากประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความพร้อมทางด้านการท่องเที่ยว ด้านสาธารณสุข จะเป็นโอกาสที่จะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากยิ่งขึ้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายด้านสาธารณสุขที่ขณะนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งยังคงเน้นย้ำการให้สิทธิประโยชน์และให้ประชาชนได้รับความสะดวก ทำให้แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ระบบสาธารณสุขยังสามารถให้การรักษา ควบคุมจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ และมีความพร้อมของเวชภัณฑ์ทั้งในด้านการป้องกันและรักษา ไม่มีปัญหาการขาดแคลน และทุกหน่วยงานในเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ประสานงานกันทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชน
ในส่วนของวัคซีนป้องกันโควิด19 ขณะนี้ก็ได้กระจายให้กับประชาชนแล้วกว่า 130 ล้านโดส และอยู่ระหว่างการเร่งฉีดให้กับกลุ่มที่เคยปฏิเสธวัคซีน เช่นกลุ่มผู้สูงอายุเนื่องจากขณะนี้เข้าใกล้เทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาของลูกหลานซึ่งจะต้องไปพบกับผู้สูงอายุ และกระทรวงสาธารณสุขก็รณรงค์ให้ผู้ที่จะเดินทางในเทศกาลสงกรานต์นี้ดูแลตัวเองให้ปลอดเชื้อ 1 สัปดาห์ก่อนกลับบ้าน เพื่อให้ความมั่นใจว่าปีนี้จะเป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัย และสถานการณ์แพร่ระบาดอยู่ในระดับควบคุมได้ โควิดไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นตามเป้าหมายของรัฐบาล
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ สสส. ได้เห็นชอบแผนงานภาคประชาสังคมร่วมควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (วันที่ 1 เม.ย. 2565 – 31 มี.ค. 2568) ภายในวงเงินงบประมาณ 58.71 ล้านบาท ซึ่งจะมีสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ เป็นองค์กรรับงบประมาณสนับสนุน และขับเคลื่อนโครงการ โดยแผนงานนี้มีเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดการลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ในกลุ่มนักดื่ม ขับเคลื่อนการปัญหาแอลกอฮอล์แบบบูรณาการโดยกลไกระดับอำเภอ
การเฝ้าระวังการปฏิบัติตามกฎหมาย พรบ.แอลกอฮอล์ฯ อย่างไรก็ตาม แม้โดยสถิติแล้วจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ณ ปี 2564 อยู่ที่ 5,731,034 คน ลดลงจาก 6,655,536 คน และ 7,649,237 คน ในปี 2563 และ2562 ตามลำดับ แต่การรณรงค์เพื่อลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นก็ยังต้องดำเนินต่อเนื่องโดยเฉพาะการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ทั้งเด็กและเยาวชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (วันที่ 1 เม.ย. 2565- 31 มี.ค. 2567) ภายในวงเงินงบประมาณ 45.5 ล้านบาท ซึ่งจะมีมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนนเป็นองค์กรผู้รับงบประมาณสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการ
โดยแผนงานจะมีการประสานการทำงานร่วมกับภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เครือข่ายในต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งขณะนี้ยังพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับสูงและสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งข้อมูลของทีดีอาร์ไอระบุว่า ณ ปี 2562 อุบัติเหตุทางถนนได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมถึง 6.42 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของจีดีพี โดยกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดคืออุบัติเหตุจากจักรยานยนต์ ซึ่งเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 72 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการการปรับปรุงระเบียบและกฎบัตรการตรวจสอบภายใน ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย
1) เห็นชอบร่างระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยการตรวจสอบภายในของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. …. 2) เห็นชอบร่างระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานและการบริหารงานภายในสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 3) เห็นชอบร่างกฎบัตรของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการตรวจสอบภายใน 4) รับทราบร่างกฎบัตรของฝ่ายตรวจสอบภายใน