9 มกราคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนและคณาจารย์ทั่วประเทศ โดยภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศให้โรงเรียนในสังกัดประเมินสถานการณ์ความเสี่ยง หากเข้าข่ายมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ให้พิจารณาปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบทางไกล ไม่ว่าจะเป็น On air, Online, On hand และ On demand ซึ่งขณะนี้ได้มีโรงเรียนหลายแห่งปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จึงฝากให้กระทรวงศึกษาธิการ ดูแลการจัดรูปแบบการเรียนการสอนทางไกลอย่างเหมาะสม แก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านอุปกรณ์ จำนวนเวลาเรียน วิชาเรียน รวมถึงให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาความเครียดที่จะเกิดขึ้นต่อผู้เรียนและผู้สอนด้วย เพื่อให้การเรียนการสอนในรูปแบบทางไกลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้เรียนและไม่เป็นการเพิ่มภาระของผู้สอนมากเกินไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือด้านบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนออนไลน์ ให้มีความทั่วถึง ครอบคลุมกลุ่มผู้เรียน ทั้งนี้ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความสะดวก ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ไม่เป็นปัญหาต่อการศึกษาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันจะดูแลการศึกษาของเยาชนไทยอย่างเต็มที่ และให้เน้นย้ำสถานศึกษาประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงของตนเอง รวมถึงดำเนินมาตรการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษามีการติดเชื้อโควิด-19 หรือมีผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยให้ซักซ้อมอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที