นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนได้รับข้อมูล จากผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่คอร์สสัมมนา ซึ่งได้รับหนังสือจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ สำนักงาน ปปง.แจ้งข้อมูลว่า ได้รับเงินเฉลี่ยคืนร้อยละ 0.0191 ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก ทั้งที่คดีดังกล่าวไม่ได้มีความสลับซับซ้อนเพราะจำเลยรับสารภาพในชั้นศาลว่าได้หลอกลวงประชาชน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนพบว่ามีการทำธุรกรรมผ่านบัญชีธนาคาร มากกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความดำเนินคดีจำนวน 2,412 คน
คดีฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่เป็นอาญาแผ่นดินและเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งคดีแชร์ลูกโซ่คอร์สสัมมนาได้ถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายมาแล้วกว่า 5 ปี โดยผู้เสียหายมีความหวังว่าจะได้รับเงินคืน แต่เมื่อถึงเวลาได้รับเงินคืน กลับได้รับเงินคืนในจำนวนที่น้อยมาก
ผมจึงขอตั้งคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่ต้องสังคายนากฎหมาย เช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่1 ที่ได้สังคายนากฎหมายเก่าที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ผมขอหยิบยกเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาให้ พี่น้องประชาชนทราบพอสังเขป ซึ่งอาจจะนำมาเป็นกรณีศึกษาในการพิจารณาสังคายนากฎหมายฉ้อโกงประชาชน ต่อไป
ช่วงก่อน พ.ศ. ๒๓๔๗ ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงครองราชสมบัติอยู่นั้น ได้เกิดกรณีผู้พิพากษาตัดสินคดีหย่าร้างเรื่องหนึ่งโดยไม่เป็นธรรม กล่าวคือ นายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระองค์ อ้างเหตุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินคดี
โดยระบุว่า อำแดงป้อม ภรรยาของตนเป็นชู้กับนายราชาอรรถ แต่อำแดงป้อมกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรี และผู้พิพากษากลับเข้าข้างอำแดงป้อม และยังพูดจาเกี้ยวพาราสีอำแดงป้อม แล้วพิพากษาให้อำแดงป้อมหย่าขาดจากนายบุญศรีได้ ทั้งที่นายบุญศรีไม่มีความผิด โดยอ้างตัวบทกฎหมายว่า “แม้ชายผู้เป็นสามีไม่มีความผิด หากหญิงผู้เป็นภรรยาขอหย่า ก็ให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันตามกฎหมายได้”
ในสมัยนั้นตัวบทกฎหมายจะเก็บรักษาไว้ที่ศาลหลวงฉบับหนึ่ง ที่ข้างพระที่ในพระบรมมหาราชวังอีกฉบับหนึ่ง และที่หอหลวงอีกฉบับหนึ่ง รวม ๓ แห่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวบทกฎหมายที่เก็บรักษาไว้ทั้ง ๓ แห่ง มาตรวจสอบทานกัน ปรากฏว่า มีข้อความตรงกันทุกฉบับว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้”
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงมีพระราชดำริว่า ตัวบทกฎหมายเช่นนี้ ไม่มีความยุติธรรม คงมีความฟั่นเฟือนวิปริตไป เหตุคงมาจากผู้ที่มีความโลภหลงไม่รู้จักละอายต่อบาปจ้องแต่จะหาประโยชน์ส่วนตัว ทำการแต่งกฎหมายตามใจชอบมาพิพากษาคดีให้เสียความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งผู้ชำระกฎหมายจำนวน ๑๑ คน นำตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด มาตรวจสอบเนื้อความจัดเป็นหมวดหมู่ ชำระดัดแปลงเนื้อความที่วิปริตผิดความยุติธรรมออกเสีย
เมื่อพี่น้องประชาชนได้ทราบประวัติศาสตร์การสังคายนากฎหมายแล้ว มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง กรณีแชร์ลูกโซ่คอร์สสัมมนา ผู้เสียหายรอการเฉลี่ยทรัพย์คืน เป็นเวลากว่า 5 ปี แต่ได้รับคืนไม่ถึง 1% ขณะที่โทษทางอาญาสำหรับคนคดโกงในอดีต เช่น แม่ชม้อย ถูกศาลตัดสินจำคุก 150,000 ปี แต่ถูกจำคุกจริงเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน หากพวกท่านคิดว่า อัตราโทษที่ได้รับและเงินที่ได้รับการเฉลี่ยทรัพย์คืน มีความ ยุติธรรมแล้วก็จงปล่อยไว้เถิด แต่ถ้าพวกท่านคิดว่า สมควรแก้ไขก็ต้องออกมาช่วยกันเป็นพลังในการผลักดันเรื่องนี้ร่วมกันถึงเวลาแก้ไขกฎหมายฉ้อโกงประชาชน หรือไม่ อย่างไร
ตนพูดเรื่องนี้มาตลอด 8 ปีที่อาสาลงมาช่วยพ่อแม่พี่น้องประชาชนผลักดันเรื่องนี้ เป็นผลให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รัฐมนตรี มอบนโยบายให้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2560 แต่ทุกวันนี้ แชร์ลูกโซ่ก็ยังมิได้เบาบางไปจากสังคมไทย เพราะขาดองคาพยพ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ ขาดผู้ที่จะทำงาน แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ตนรับปากพ่อแม่พี่น้อง ประชาชน กว่า 500,000 คนไว้อย่างไร ก็ยังยืนยันที่จะทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ทุกวันนี้มีจำนวนผู้เสียหายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากในแต่ละวันมีข้อความส่งมาหาตนในทุกช่องทางเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกโกง ถูกหลอกลวงบ้าง
ตนหวังว่า ปัญหากฎหมายล้าหลังที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน จะได้รับการสังคายนาอีกครั้งดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความยุติธรรมอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยตนพร้อมเดินเคียงข้างไปกับทุกคน อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากไปยังผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่คอร์สสัมมนาให้เตรียมรอรับหนังสือแจ้งจากสำนักงาน ปปง.และปฏิบัติตามหนังสือที่แจ้งไว้เพื่อรักษาสิทธิของตนเองด้วย