นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคมเข้าร่วม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ณ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่พบปะกับประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรในพื้นที่ รวมทั้งภาคขนส่งเพื่อสนับสนุนด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การบริการและการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ ซึ่งกระทรวงคมนาคม
โดยกรมทางหลวงชนบทดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง รวมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโนบายในการดำเนินโครงการต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และให้ทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านทุกมิติ ให้ความสำคัญกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ พร้อมทั้งมีข้อสั่งการให้กรมทางหลวงชนบท ขยายถนนภายในเกาะลันตา เป็นขนาด 12 เมตร และมีไหล่ทางเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัย และรับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อช่วยเหลือและดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางไปเกาะลันตาจะต้องผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 เพื่อลงแพขนานยนต์ที่ท่าเรือบ้านหัวหินไปยังท่าเรือบ้านคลองหมาก ซึ่งท่าเรือดังกล่าวเชื่อมระหว่างเกาะกลางไปยังเกาะลันตาน้อย หลังจากนั้นจะมีสะพานสิริลันตาเชื่อมเกาะลันตาน้อย – เกาะลันตาใหญ่ จึงจะถึงตัวเมือง ย่านชุมชน/การค้า และตรงต่อไปยังหาดต่าง ๆ
ซึ่งการใช้แพขนานยนต์ แม้จะเป็นระยะทางเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์บรรทุกรถได้น้อย มีจํานวนและเวลาการให้บริการจํากัด ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งเมื่อโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย ก่อสร้างแล้วเสร็จจะยกระดับการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกรวดเร็วปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยลดระยะทางและระยะเวลาในการเดินทาง รองรับการสัญจรของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว รวมทั้งสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพในกรณีเกิดภัยพิบัติ
โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา เป็นการก่อสร้างสะพานและถนนต่อเชื่อมความยาวรวม 2.2 กิโลเมตร ขนาด 2 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นก่อสร้างที่ทางหลวงหมายเลข 4206 บริเวณบ้านหมู่ 8 ตำบลเกาะกลาง ไปจนถึงท่าเรือบ้านหัวหิน ตำบลเกาะกลาง แล้วก่อสร้างสะพานข้ามคลองช่องลาด และเข้าบรรจบกับเกาะลันตาน้อย โดยบรรจบกับทางหลวงชนบท กบ. 5035 ที่บริเวณบ้านหมู่ 2 ตำบลเกาะลันตาน้อย มีความยาวตลอดเส้นทาง 2.2 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท
ปัจจุบันดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีแผนจะเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประมาณเดือนธันวาคม 2564 หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบโครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (พ.ศ. 2566 – 2568) และสามารถเปิดสัญจรได้ภายในปี 2569
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วย การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง จ.กระบี่ เพิ่มช่องจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางได้แก่
– ทางหลวงหมายเลข 4034 ตอน บ.เขากลม – บ.ท่าหินดาน เป็น 4 ช่องจราจรซึ่งจะเปิดใช้งานในปี 2566
– ทางหลวงหมายเลข 4 ตอน สามแยกปลาลัง – เหนือคลอง เป็น 6 – 8 ช่องจราจร ซึ่งจะเปิดใช้งานในปี 2567
– การพัฒนาโครงข่ายถนนสายใหม่ ทางเลี่ยงเมืองกระบี่ และ เส้นทางปลายพระยา – ทับปุด
– ทางหลวงหมายเลข 4037 เหนือคลอง- ควนสว่าง และทางหลวงหมายเลข 4156 เขาพนม -บางเหรียง – ทางหลวงหมายเลข 4038 คลองท่อม – ลำทับ เพิ่มเป็น 4 ช่องจราจร
– โครงการพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน ซึ่งมีแนวเส้นทางเบื้องต้นระยะทาง 650 กิโลเมตร เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และความสะดวกปลอดภัยในการเดินทาง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาจราจร และการเป็นถนนท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลแห่งใหม่
– การพัฒนา Smart Pier ท่าเรือบ้านศาลาด่าน อ. เกาะลันตา เพื่อปรับปรุงท่าเทียบเรือให้ประชาชนและผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกแบะความปลอดภัยในการใช้งานรวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 80 คาดว่าเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2564
– การพัฒนา Smart Pier ท่าเรือปากคลองจิหลาด เพื่อปรับปรุงท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการภายในท่าเทียบเรือ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานรวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ คาดว่าเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2565
– การศึกษาเพื่อพัฒนา Maritime Hub ซึ่งดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) แบบครบวงจร เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งของภูมิภาคในทุกรูปแบบการขนส่ง (Hub for Connectivity) โดยคาดว่าศึกษาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมขอตั้งงบประมาณงบกลางปี 2565 โดยมีวงเงินลงทุน 25 ล้านบาท