11 พ.ย.2564-นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ โดยฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ร่วมกับฝ่ายบริการคลังสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ให้บริการขนส่งสินค้า ทางอากาศร่วมกับการขนส่งผู้โดยสาร 30 เส้นทาง สู่ทวีปเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย โดยเพิ่มเส้นทางที่เปิดให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับตารางการบินฤดูหนาว ประจำปี 64-65 ที่สนับสนุนการเปิดรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาล และเพื่อรองรับปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่วันนี้-26 มี.ค.65 ดังนี้
1. เอเชีย ให้บริการขนส่งสินค้าในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-มะนิลา, โอซากา, นาโกยา, โตเกียว (นาริตะ), ฮ่องกง, ไทเป, เซี่ยงไฮ้, โซล, สิงคโปร์, จาการ์ตา, นิวเดลี, มุมไบ, เชนไน 2. ยุโรป ให้บริการขนส่งสินค้าในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ลอนดอน, ปารีส, บรัสเซลส์, ซูริก, แฟรงก์เฟิร์ต, โคเปนเฮเกน, สตอกโฮล์ม และ 3. ออสเตรเลีย ให้บริการขนส่งสินค้าในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซิดนีย์ (บริษัทฯ ยกเว้นการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศในเส้นทางสู่ภูเก็ต ทั้งเที่ยวบินขาออกและขาเข้า)
นายนนท์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในเดือน พ.ย.64 บริษัทฯ ยังให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศในเส้นทางที่นอกเหนือจากตารางบินฤดูหนาว ประจำปี 64-65 ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง,โฮจิมินห์, ฮานอย โดยให้บริการสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน เพื่อรองรับปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าในเส้นทางดังกล่าวอีกด้วย สำหรับเที่ยวบินที่เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 มี.ค.65 ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ), เบงกาลูรู, ไฮเดอราบัด, ธากา, การาจี, ละฮอร์, อิสลามาบัด, มิวนิก, มิลาน
ทั้งนี้ คาร์โก้การบินไทยยังคงให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่การบินไทยไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ ซึ่งระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.64 ได้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ 1,622 เที่ยวบิน มีรายได้รวม 2,570.5 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตจากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 19% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในตารางการบินฤดูหนาวประจำปี 64-65 นอกจากนี้ยังมีบริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าเช่าเหมาลำ (Charter flight) อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร ที่ลูกค้าสามารถกำหนดเส้นทางตามจุดบินของการบินไทย
นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกเวลาการขนส่งสินค้าตามตารางบิน กำหนดแบบเครื่องบินได้ตามขนาดบรรทุก รวมทั้งยังมีบริการพื้นที่คลังสินค้าจากการบินไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Good Distribution Practices (GDP) ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)