ผสมโรง
สันต์ สะตอแมน
เอาให้จริงเถอะครับ!
ผมหมายถึง พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่กล่าว.. “ขอฝากเตือนไปยังผู้ใช้รถทุกประเภทให้เคารพกฎจราจร อย่างเคร่งครัด
ต่อจากนี้ หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎจราจร แบบตั้งใจหรือมีเจตนาที่จะทำผิด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีมาตรการเข้มในการบังคับใช้กฎหมาย
เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชน”
ที่ผมย้ำ “เอาให้จริง” เพราะจากที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ในกรุงเทพฯไม่ว่าจะ “แยกไฟแดง” จุดไหน จะต้องมีรถมอเตอร์ไซค์ขับฝ่าไฟแดงจนชินตา
และให้ฉงน ผมไม่เคยเห็นตำรวจ-จราจร จับรถพวกนี้ได้แม้แต่คันเดียว จะเห็นอยู่บ้าง ก็ที่ยืนเขียนใบสั่ง-ล็อคลอรถยนต์ที่จอดในที่ห้ามจอด ซึ่งก็ให้แอบชื่นชมในความขยันอยู่
ยิ่งกว่านั้น ที่เห็นๆอยู่ทุกวี่ทุกวัน ส่วนใหญ่ก็เป็นรถจักรยานยนต์ส่งอาหารที่มีอยู่หลากยี่ห้อ จนให้นึกแปลกใจว่า..
เจ้าของธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ Food delivery เขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับตำรวจ-จราจรหรือไง?
ก็..เข้าใจล่ะว่า ไรเดอร์-ผู้ส่งอาหารน่ะต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อจะได้มีรายได้เยอะๆ แต่พวกท่านก็ควรมีสำนึก มีมารยาท มีความละอาย ต้องไม่ละเมิด-ฝ่าฝืนกฎหมาย..
เร็วได้-แรงได้ตามความสามารถ แต่การขับขึ้นฟุตบาท ย้อนศร “ฝ่าไฟแดง” มันเป็นวิถีของคนป่า-เมืองเถื่อน ไม่ควรทำ!
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ
ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ได้เคยให้สัมภาษณ์.. “ขณะนี้กิจการส่งอาหารที่เรียกว่า Food Delivery เติบโตอย่างรวดเร็ว
เท่าที่ทราบปัจจุบัน มีคนที่เข้าสู่ระบบธุรกิจนี้มากกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายหลักๆ บางยี่ห้อมีพนักงานอยู่มากกว่า 120,000 ราย ทั่วประเทศ…
ถ้าดูจากสถิติ จะเห็นว่า อัตราการตายที่เฉลี่ย 35 นาทีต่อ 1 คน ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ยังคงสถิติเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
แต่ในระยะหลังๆ มานี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เฉี่ยว ชน เป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คือ กลุ่มธุรกิจจัดส่งอาหารหรือ Food Delivery
จึงอยากเสนอให้บริษัทหรือผู้ประกอบการธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ แม้แต่จัดส่งเอกสาร ได้มีการอบรมพนักงานในเรื่องการขับขี่มอเตอร์ไซค์ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสีย”
นี่หาก..พญ.ชไมพันธุ์จะได้เสนอตรงๆ ให้เจ้าของธุรกิจได้มีการอบรม หรือออกเป็นคำสั่ง “ห้ามไรเดอร์ขับรถฝ่าไฟแดง” ด้วยก็จะยิ่งดี แต่ไม่ว่าจะลืมหรืออย่างไร ผมก็ใคร่เสนอเสียตรงนี้ล่ะว่า..
ผู้ประกอบกิจการส่งอาหารทุกยี่ห้อ ต่อจากนี้จะต้องเอาจริง-เด็ดขาด หากไรเดอร์ในสังกัดฝ่าฝืนกฏหมายจราจร ท่านต้องไม่ให้งานทำอีกต่อไป!
ส่วนตำรวจก็หยุดฝากเตือน และอย่าเอาแต่ขู่ เจอผู้ขับขี่รถฝ่าฝืนกฎหมาย..
จับจริง-ปรับจริง เสียที!