สมองมนุษย์มีตั้ง ๓ ส่วน……..
แต่พวกเอ็นจีโอแก๊ง “แบน ๓ สาร” นี่ สงสัยมีแค่สมองส่วนหลังอย่างเดียว จึงไม่เข้าใจระหว่างคำว่า
“ยกเลิกการใช้” กับคำว่า “เลื่อนการเลิกใช้” ๓ สารเคมี
เขาไม่ได้เลิกแบน
เขาเพียงให้เลื่อนการแบนไปอีก ๖ เดือน เพื่อให้ไปศึกษาหาวิธีมาเสนอเพื่อพิจาณาอีกครั้งว่า
เมื่อเลิกใช้พาราควอตกับคลอร์ไพริฟอสไปแล้ว มีอะไรที่ไม่ใช่สารเคมี ที่กรมวิชาการเกษตร จะให้เกษตรกรเขาใช้?
ส่วนไกลโฟเซต ไม่แบน ให้ใช้เหมือนเดิม แต่ “จำกัดการใช้” ด้วยภาระจำยอมบางอย่างทางเงื่อนไขการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งถ้าแบนฉับพลัน……
สินค้าส่งออกมากมาย จะเสียหายในวงกว้างมากกว่าความเป็น “ไกลโฟเซต” แค่ยาฆ่าหญ้าตัวหนึ่ง ถึงแบนไป ก็ยังมีอีกเป็นร้อยชนิดวางขายให้ซื้อไปใช้แทน
เนี่ย…ประเด็นหลักก็มีแค่นี้
แต่นี่ โหมกระแสกันไปเป็นว่า คณะกรรมการฯ-ประเทศชาติ-รัฐบาล “เลิกแบน ๓ สาร” แล้ว
แล้วด่าทุกคนที่ไม่เออออตาม!
นักวิชาการ-วิชาเกินบางคน ก็พลอยเป็นไป หยิบข้อมูลด้านเดียว คือด้านอันตราย มาปั่นกันซะเว่อร์
จนลืมความจริงไปว่า ที่โวยและไม่โวยทุกคนวันนี้
ล้วน “โต-โง่-ฉลาด” มาด้วยพืชผักผลไม้และยารักษาโรค ที่ “อาบสารพิษ” มาทั้งนั้น!
ดังนั้น จะให้ข้อมูลอะไร ก็ควรให้มันครบทั้ง ๒ ด้าน ให้มันสมกับคำว่านักวิชาการ หรือ “คนดีเพื่อสังคม” ที่ไม่ใช่ “คนดีหากินกับสังคม”
ไม่มีใครเถียงว่า พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต กับอีกเป็นร้อยชนิดในท้องตลาด ไม่ใช่สารเคมีอันตราย
ขึ้นชื่อว่า “สารเคมี” อันตรายทั้งนั้น
แต่ในอันตรายนั้น มีทั้งคุณ-ทั้งโทษ และวงจรมนุษย์ทุกวันนี้ ไม่มีใครหนี “สารเคมี” พ้น
ไม่แค่จาก พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ๓ สารในพืชไร่นี่เท่านั้น
ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ยุคนี้ เพิ่ม มือถือ อินเทอร์เน็ต รถยนต์ น้ำมัน แก้ส เข้าไปอีก
ลองบอกซิ…….
จากหัวยันตีนเอ็นจีโอและพลโลกทุกวันนี้ มีใครบ้าง ที่ชีวิตประจำวัน พ้นความเป็นทาสสารเคมี?
ในโลกเป็นจริงก็คือ………
“ในคุณมีโทษ ในโทษมีคุณ” หนักไปทางใด-ทางหนึ่ง ก็เกิดโทษได้ทั้งนั้น
เช่น ป่วย เป็นโรค ไม่กินยา ด้วยว่าเป็นสารเคมี ก็ตายทันทีได้
แต่ถ้าเอะอะก็กรอกยาตะพึด……
เช่นปวดหัวนิดนึง ก็คว้ายาแก้ปวดเป็นกำมือใส่ปาก หรือกินประจำ มันก็ตายได้เช่นกัน
สมัยหนึ่ง เกษตรกร คนเฒ่าคนแก่ตามต่างจังหวัด ต้องมีทันใจ บวดหาย ติดเชี่ยนหมาก กรอกใส่ปากวันละ ๓-๔ ซอง
ผล…กระเพาะทะลุ เป็นโรคไต กันเป็นแถว!
ไม่มีใครปฏิเสธว่าสารเคมีมันไม่อันตรายต่อชีวิต ดังนั้น ถ้าเลิกได้ หลีกเลี่ยงได้ ต้องเลิก ต้องหลีกเลี่ยงทันที
แต่ถ้าวงจรชีวิตยังหนีคำว่า “สารเคมี” ไม่พ้น ก็ต้องยึดคำว่า “พอดีๆ” บริโภคและใช้ด้วยศึกษาข้อบ่งใช้เคร่งครัด
พอดี คือแบบไหน?
ก็แบบไม่ใช้ประจำ ใช้ตามจำเป็น ใช้ตามคำแนะนำ ทั้งขนาด ปริมาณ ระยะเวลา รวมทั้งต้องมีความรับผิดชอบด้วย
ต้องเข้าใจ อย่างพาราควอต ไกลโฟเซต เขาใช้ฆ่าวัชพืช คือพวกหญ้า ไม่ได้ใช้ฉีดพ่นพืชผักผลไม้
ถ้าใช้พอดีๆ ตามคำแนะนำ ก็ไม่อันตราย …….
จะอันตรายก็ตรงที่ปล่อยให้ชาวไร่-ชาวนาปลูกซ้ำ-ปลูกซากพืชชนิดเดียวในที่ดินตรงนั้น ทำให้สารเคมีสะสม-ซ้ำซาก
แบบนี้ เรียกว่า “เกินพอดี” ดินจะป่วย………
ทั้งวิศวกรดินธรรมชาติ พวกไส้เดือน จิ้งหรีด ด้วง แมลง ไม่เกิด ด้วยสารพิษอาบแผ่นดินอย่างว่านั่นแหละ ทำให้ดินและระบบนิเวศสิ้นสภาพ
ถ้าแนะนำให้ปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนหรือผสมผสานในที่ดินนั้นบ้าง
แล้วไถกลบ “ไม่เผา”
กระทั่งหญ้าและซังข้าวก็เถอะ จะต้องฆ่า ต้องเผาทำไม?
เอาราก,เอาเถา,เอาต้น,เอาใบ,เอาซัง ไถกลบเป็นปุ๋ยในดิน แบบนี้ ดินจะไม่ป่วย วิศวกรดินธรรมชาติจะเกิด
เมื่อดินหายป่วย……
กลับมาปลูกพืชไร่ได้เหมือนเดิมอีก ก็จะได้ผลดี บางทีไม่ต้องใช้สารเคมี หรือต้องใช้ ก็ใช้น้อยลง อย่างนี้ จากโทษก็เป็นคุณ
แต่อย่างคลอร์ไพริฟอส ใช้ฆ่าหนอน-แมลง นี่น่าห่วง เพราะต้องปนเปื้อนกับพืชผักผลไม้โดยตรง
เป็นเรื่องที่กรมวิชาการเกษตร ต้องหามาตรการมาใช้
เรื่องจะห้ามใช้สารเคมีฆ่าหนอน-แมลงพืชไร่นั้น คิดได้ พูดได้ แต่ในทางปฏิบัติ คำถามคือ…..
แล้วจะแนะนำหรือมีอะไรให้เขาใช้แทน?
น้ำมันที่ใช้กับรถยนต์ทุกชนิด เทลงคลอง ลงพื้น ลงท่อระบาย ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างรถ น้ำมันทิ้งจากทำอาหาร กระทั่งเครื่องสำอางพอกหน้า สารพัดสารจากของทิ้งที่ไหลลงท่อ
สารพิษ “ฆ่ามนุษย์” ทั้งนั้น หรือมีเอ็นจีโอ นักวิชาการคนไหน ใช้น้ำประปาแทนน้ำมันเติมรถ ใช้สีก้านธูปทาปาก?
ที่ยกมานี้ เพื่อให้เข้าใจว่า…..
“สารพิษ” ที่มนุษย์ต้องใส่ใจ ไม่ได้มีเฉพาะ ๓ สาร “พาราควอต,ไกลโฟเซต,คลอร์ไพริฟอส” ที่เอ็นจีโอจำเพาะเจาะจง ว่าต้องแบนฉับพลันทันใดแค่นี้หรอก
สารพิษน่ะ มันยังมีอาบแผ่นดินอยู่อีกเป็นแสน-เป็นล้านชนิดในชีวิตประจำวันมนุษย์
ฉะนั้น ต้องใช้ “สติ” บริหารการใช้-ไม่ใช้ ให้มาก
อย่าใช้อีโก้และตัวกูเป็นศูนย์กลางแห่งความใช่-ไม่ใช่ตะพึด!
นี่เห็นปั้นประเด็นใหม่ว่ามติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้เลื่อนการแบนไปอีก ๖ เดือนนั้น โมฆะ ทำนอง มติ ๒๗ พย.ขัดกับมติ ๒๒ ตค.จะฟ้องร้อง
แล้วพาลด่ารัฐมนตรีอุตสาหกรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่นั่งหัวโต๊ะประชุมวันนั้น
ทุเรศธนาธรไปคนแล้ว ยังจะต้องให้ทุเรศกับความงี่เง่าและเพ้อเจ้อพวกนี้อีกหรือนี่?
รัฐมนตรีสุริยะ ทำถูกต้องในสิ่งควรต้องมีเหตุผลในทางปฏิบัติแล้ว เพียงแต่ไม่ถูกใจพวกไม่เอาเหตุ จะเอาเฉพาะผลที่ตัวเองไม่รับผิดชอบเท่านั้น
ขอถามเป็นข้อๆ นะ……….
๑.แบน ๓ สารแล้ว จะให้ใช้อะไรแทน?
๒.ที่จะนำมาให้ใช้แทน เป็นสารเคมี เช่นเดียวกับ ๓ สารนั้น หรือไม่ใช่?
๓.สารเคมีตัวอื่นๆ ในท้องตลาด ทำไมไม่ให้แบนไปทั้งหมด?
๔.ที่จะให้ใช้แทน ถูกกว่าเดิม เท่าเดิม หรือแพงกว่า?
๕.ให้ผลผลิตเท่าเดิม-มากกว่า หรือลดลงกว่าเดิม?
๖.ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตได้ลดลง ใครรับผิดชอบ?
๗.นักวิชาการ-เอนจีโอ มีคำตอบชนิดมีตัวอย่างยืนยันไหมว่า อินทรีย์ชีวภาพ ตอบโจทย์เกษตรเชิงพาณิชย์ เช่น ไร่มัน ไร่อ้อย ข้าวโพด สวนปาล์ม นาข้าว จะสะดวก,ประหยัด,ลดต้นทุน,ได้ผลผลิตดีกว่าเดิม?
๘.นักวิชาการ,เอ็นจีโอ มีมาตรการ ข้อเสนอแนะ เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจาณามั้ยว่า ……..
แบนแล้ว ทำตามมาตรการนี้ ข้อเสนอแนะนี้ รายจ่ายเกษตรกรจะลด รายได้จะเพิ่ม ทั้งสารพิษด้านอื่นก็จะไม่มี
หรือแค่กระสัน แบน..แบน..แบน…แบน อย่างเดียว อย่างอื่นกูไม่รู้ด้วย กูไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้นด้วย?
๙.แบนตะพึด โดยไม่มีข้อเสนอแนะเป็นทางออก เอ็นจีโอ ภูมิใจว่าทำเพื่อโลกและสังคม
แต่คิดในมุมกลับหรือไม่ว่า……..
พวกคุณกำลังโยนโลกทั้งใบให้เกษตรกรแบก โดยพวกคุณ นั่ง-นอน-ดื่ม-กิน เกษมเสพอยู่ในโลกที่ให้เขาแบก
มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่เกษตรกรได้ คือคำว่า “ภาระเสี่ยง” อันหาผู้รับผิดชอบไม่ได้?
ทางที่เป็นคุณูปการกับสังคม เอ็นจีโอและนักวิชาการ อย่าทำเหมือนคนมีสมองซีกเดียว
ค้านน่ะ แค่อ้าปาก ปั่นข่าวสารด้านเดียวลงในโซเชียล มันง่าย ใครก็ทำได้
ที่สังคมอยากได้ อยากฟัง คือ คำเสนอแนะ ถึงวิธีการ ขั้นตอน ว่า การแบน ๓ สาร นั้น
จะแลนดิ้งสวยๆ ด้วยมีมาตรการอย่างนั้น-อย่างนี้ รองรับไว้แล้ว และนั่นคืออะไร?
ไม่ใช่ กูไม่รู้ กูไม่รับผิดชอบ ไม่ใช่ธุระของกู กระทั่งว่า ที่สินค้าที่เขาสั่งเข้ามาก่อนหน้าถูกตามกฎหมาย แต่เมื่อแบนปุบปับกลายเป็นสิ่งกฏหมาย
ใครจะรับผิดชอบส่วนนี้?
จะทำอย่างไร จะทำลาย แล้วใครจ่าย ไม่รู้…มีแต่คนเอาหน้า ไม่มีคนรับผิดชอบ แบบนี้น่ะหรือที่เรียกปัญญาบริหาร?
นี่…….
อยากให้เข้าใจกันตรงนี้ว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วย “สารเคมี” อย่างพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต อันตรายสะสม
เลิกได้ ต้องเลิก เลิกไม่ได้ ต้องหาวิธีเลี่ยงใช้ให้มากที่สุด
คณะกรรมการฯ ไม่ได้เลิกแบน เพียงเลื่อนเวลาการแบนไป ๖ เดือน
ระหว่างนี้ ให้กระทรวงเกษตร สาธารณสุข ไปหาวิธีการ มาตรการที่เป็นไปได้ทางปฏิบัติจริง ไม่ใช่สักแต่มีอำนาจก็บ้าจี้สั่งไปเรื่อย
และอะไรที่มีงานวิจัยทางวิชาการรองรับ ว่าใช้แทน ๓ สารเคมีนั้นได้ โดยไม่มีสารที่เป็นพิษตกค้างถึงมนุษย์ ที่จะเสนอใช้แทน?!
เบื่อฟัง ต้องแบน..ต้องแบน
ที่อยากฟัง คือ มีมาตรการอะไรรองรับการแบน และที่จะนำมาใช้แทน
แน่นะ…ไม่ใช่สารเคมี?