ผสมโรง
สันต์ สะตอแมน
จากปีแรก-พ.ศ.2554..
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการขึ้นทะเบียน “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” จนถึงปีนี้-พ.ศ.2564 มีหนังไทยได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 221 เรื่อง
โดยปีที่ 11-ล่าสุด สรุปจากที่คุณอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรมได้แถลงข่าว.. มีผู้เสนอรายชื่อภาพยนตร์ไทยเข้ารับการพิจารณา เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ จำนวน 1,500 คน
รวมภาพยนตร์จำนวน 317 เรื่อง ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาฯจะคัดเลือกขึ้นทะเบียน “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” ได้ทั้งสิ้น 11 เรื่อง!
ประกอบด้วย 1. โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (ปี 2471) 2. ห้วงรักเหวลึก (ปี 2498) 3. คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503 (ปี 2503) 4. สุรีรัตน์ล่องหน (ปี 2504)
5. นิสิตพัฒนา (ปี 2505) 6. โฆษณาเพียว (ปี 2506-2508) 7. การเดินทางอันแสนไกล (ปี 2512) 8. ทอง (ปี 2516) 9. วิมานดารา (ปี 2517) 10. สาย สีมา นักสู้สามัญชน (ปี 2524)
และ 11. Goal Club เกมล้มโต๊ะ (ปี 2544) ซึ่งทั้งหมดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน คุณอิทธิพลบอก..
“ล้วนมีความสำคัญ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำทางด้านการเมือง มานุษยวิทยา สังคม และวัฒนธรรม”
ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร นั่นก็ขึ้นอยู่กับทัศนะ-มุมมองของแต่ละคน บางคนอาจถาม หนังเรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” ด้วยได้ไง?
แต่นั่น ก็คงไม่ได้จะค้าน “ไม่เห็นด้วย” เพียงแค่ใคร่รู้ตามประสาของคนดูหนัง ที่ย่อมแตกต่างกันในเรื่องรสนิยม!
รสนิยมของคณะกรรมการคัดเลือก (ไม่รู้ใครบ้าง) ก็ใช่ว่าจะตรงกัน กว่าจะได้ชื่อหนัง 11 เรื่องนี้ จากที่มีผู้ส่งเข้าร่วมพิจารณา 317 เรื่อง ผมเดาเอาว่า..
น่าจะได้มีการถกเถียง-อภิปรายกันอยู่พอสมควร ก่อนที่จะตัดสินด้วย “คะแนนเสียง”ตามระบอบประชาธิปไตย!
ฉะนั้น..หากจะมีคนสงสัย หรือตั้งคำถามหลังจากนี้ ทางหอภาพยนตร์ฯก็อย่าได้ขัดเคือง-รำคาญใจ แต่ให้คิดเสียว่าโครงการนี้มีความสำคัญ ประชาชนจึงให้ความสนใจ วิพากษ์-วิจารณ์..
เพราะหากสังคมเอาหูไปนา-เอาตาไปไร่ “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” จะมีคุณค่าได้อย่างไร ก็จะเป็นเพียง “อีเว้นท์”ภายในของหอภาพยนตร์ฯเท่านั้นเอง!
และเพื่อให้ได้พิสูจน์ถึงคุณค่าของหนังทั้ง 11 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ภายในเดือนตุลาคมนี้ หอภาพยนตร์ฯ จะได้จัดโปรแกรมฉายให้ได้ชม ทั้งในโรงภาพยนตร์ หอภาพยนตร์ ศาลายา..
ก็..เลือกเอาว่า อยากดูเรื่องอะไร?
สำหรับผม ถ้ามีโอกาสก็ตั้งใจจะไปดู “วิมานดารา” ไม่ได้เพราะชื่อหนังชวนดู แต่อยากรู้ว่าที่ “คุณสุเทพ วงศ์กำแหง” ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ยอมควักเงินลงทุนสร้าง
เรื่องราวของหนัง-โปรดักชั่นมันเป็นอย่างไร และทำไมหลังจากเรื่องนี้แล้ว ไม่มีหนังที่คุณสุเทพเป็นผู้อำนวยการสร้างอีกเลย หรือว่า..
วิมานดารา ฤาจะสู้ “วิมานนักร้อง”?