นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำกับดูแลงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจักรพล แสงมณี ที่ปรึกษาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในคลับเฮาส์ หัวข้อ “น้ำท่วม 64 กับ 10 ปีที่สูญเปล่า” ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำท่วมในปี 2554 ทั้งด้านการแก้ไข รับมือ ตลอดจนการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายปลอดประสพ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ถือว่ายังไม่รุนแรง โดยน้ำท่วมในปี 2554 ปัญหาที่หนักกว่าวันนี้ถึง 5 เท่า แต่สามารถบริหารจัดการจนฟื้นคืนประเทศในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนการลงพื้นที่ดูแลน้ำท่วมระหว่างรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็แตกต่างกันชัดเจน โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มอบหมายรัฐมนตรีทุกคนดูแลคนละจังหวัด พร้อมให้อำนาจอนุมัติเงินช่วยเหลือพื้นที่ได้ทันที มีการวางแผนให้ภาครัฐ-เอกชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เขียนโครงการ นำเสนอ และตัดสินใจจะอนุมัติหรือไม่ภายใน 24 ชั่วโมง
ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายพื้นที่ จึงถูกจัดการเสร็จรวดเร็วทันที ตรงกันข้ามกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ลงพื้นที่ดูน้ำท่วม โดยมีรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้ติดตาม เพราะอำนาจสั่งการทั้งหมดอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น อำนาจมี เงินมี แต่รวบไว้คนเดียว โดยมีระบบระเบียบราชการที่ยังคงยึดติดในสถานการณ์เร่งด่วนจึงทำให้แก้ปัญหาได้ล่าช้า
นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า แผนการจัดน้ำ 6 โมดูลในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ถือเป็นสมบัติของชาติไทย โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแม้แต่บาทเดียว เพราะใช้วิธีรวมรวมข้อมูลจาก กรมชลประทาน ที่เดิมเก่งขาเดียวเรื่องการส่งน้ำ ได้มอบหมายให้คิดเพิ่มเรื่องการระบายน้ำ ผนวกเข้ากับแนวคิดในโครงการพระราชดำริ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำในประเทศไทย และแนวคิดทางการเมือง รวมกันเป็น TOR โจทย์เมืองไทยว่าด้วยการจัดการน้ำ และประกาศทั่วโลกให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเสนอแบบ โดยกำหนดให้จับคู่บริษัทก่อสร้างและออกแบบ จนในที่สุดได้บริษัทจากหลากหลายประเทศเข้าประมูลและได้บริษัทที่ชนะการประมูลแล้ว เหลือเพียงการเรียกทำสัญญา สุดท้ายโครงการถูกชะลอเพราะมีผู้ร้องฟ้องศาล ทำให้เสียเวลา 10 เดือน จนถูกรัฐประหาร และยกเลิกแผนงานในที่สุด
ทั้งนี้หากแผนจัดการน้ำ 6 โมดูลได้ทำ แผนงานนี้กำหนดใช้เวลา 5 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2562 หากแผนนี้ทำเสร็จสิ้น น้ำจะไม่ท่วมชัยภูมิ เพราะจะมีเขื่อนกั้นในแม่น้ำชี รวมทั้งสามารถควบคุมปริมาณในแม่น้ำยมได้โดยไม่ต้องกังวลปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักเพียงจุดเดียว จะไม่เกิดน้ำท่วมในอยุธยา เพราะสามารถควบคุมน้ำปิง วัง ยม น่าน ได้ และจะควบคุมน้ำในเขื่อนแม่วงก์ คุมน้ำสะแกกัง ตัวเพิ่มน้ำในเจ้าพระยา ประชาชนในภาคกลางและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลน้ำท่วม นอกจากนี้ประเทศไทยจะมีศูนย์รวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการน้ำประเทศไทยจะมีเอกภาพอย่างยิ่ง
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า แม้สถานการณ์น้ำภาพรวมปี 2564 จะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แต่บางจุดได้รับความเสียหายรุนแรงกว่า เพราะฝนตกกระจุกตัว ประกอบกับหลายพื้นที่มีการก่อสร้างเส้นทางโครงการใหญ่ โดยไม่มีระบบระบายน้ำที่ดีพอ จึงเกิดการท่วมขัง ถ้าปัญหาปีนี้ใหญ่เท่ากับเมื่อปี 2564 ยังนึกไม่ออกว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะจัดการน้ำและเดินหน้าเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ความรุนแรงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 มีคนตกงาน เศรษฐกิจเสี่ยงพังพินาศ โรงงานมีโอกาสย้ายออกไปจากประเทศไทยสูงมาก
แต่เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ ดำเนินการหลายด้าน เช่น เดินทางไปเจรจากับคู่ค้า การเชิญผู้นำประเทศคู่ค้า-ผู้นำทางการค้า มาให้เห็นกับตาว่าประเทศไทยยังเข้มแข็ง จึงทำให้นักลงทุนยังคงความเชื่อมั่นประเทศไทย ในปี 2564 นี้โอกาสประเทศไทยจึงไม่ควรเสียไปกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ โครงการน้ำควรถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นและดำเนินการต่อ ประเทศไทยจะได้ไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงแบบวันนี้
นายจักรพงษ์ กล่าวปิดท้ายว่า ด้านหลักการฟื้นฟูเยียวยาหลังเหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ออก พ.ร.ก. 4 ฉบับเร่งด่วน บนหลักคิดของการเพื่อการจัดการหนี้ภาครัฐ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซาก เพื่อมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ช่วยเหลือส่วนต่างๆ ตามประเภทความหนักเบาจากผลกระทบที่ได้รับ และเพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย
“ถ้าเพื่อไทยมีโอกาสบริหารประเทศ เราจะเอาโครงการต่างๆ กลับมาทำอีกครั้ง เพื่อสร้างความสามารถและความมั่นใจทางเศรษฐกิจให้คืนกลับมาอีกครั้ง มั่นใจว่าเพื่อไทยทำได้ดีกว่าแน่นอน เพราะรัฐบาลประยุทธ์มีขีดความสามารถ (skill set) จำกัดและไม่เคยเห็นหัวประชาชน” นายจักรพงษ์ กล่าว