ผสมโรง
สันต์ สะตอแมน
คึกคักกันใหญ่ทั้งหนังทั้งละคร
อย่างวันนี้-พุธที่ 29 กันยา เวลา 09.19 น. ฤกษ์งามยามดี..คุณพรพิมล มั่นฤทัย “แม่ทัพ” ค่ายโคลีเซียม ได้ทำพิธีบวงสรวงละคร “ชาติพยัคฆ์ คมนักเลง” กับ “พยัคฆ์ยี่เก” สองเรื่องซ้อน ณ ที่ทำการบริษัท
ด้านคุณพชร์ อานนท์ ผู้กำกับคนดัง ก็ได้นิมนตร์ (พระ) ไพรวัลย์ประพรมน้ำมนต์ให้กับดารา-นักแสดงและทีมงานหนัง “หอแต๋วแตกแหกโควิดปังปุริเย่” เพื่อเป็นสิริมงคลไปแล้วเมื่อวันวาน
จากนี้ วงการบันเทิงไทยก็จะได้กลับสู่โหมดการทำงาน-มีรายได้กันเสียที หลังจากที่ทนทุกข์ ทนลำบากกาย-ใจอยู่กับบ้าน-ตกงานมาจะร่วมปี!
อย่างไรก็ตาม การทำงานในท่ามกลางคนหมู่มากของกองถ่ายหนัง-ถ่ายละคร ต้องพึงสังวรอยู่ตลอดเวลา..หากไม่ได้เข้าฉาก หน้ากากอนามัยต้องปิดปาก-ปิดจมูกให้แน่นหนา..
“การ์ดห้ามตก” อย่างเด็ดขาด!
ครับ..ธรรมชาติยังคงเดินหน้ากำราบ-ลงโทษมนุษย์อย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อเนื่อง พอโควิด-19 เริ่มจะซา พายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่”ก็หอบฝนถล่มไปทั่วพื้นที่ไทย..
ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก บ้านเรือนประชาชนต้องจมอยู่ใต้น้ำ เดือดร้อน-ทกุข์ระทมลำบากไปตามๆ กัน
กระนั้น..รัฐบาล-หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนก็ได้ทุ่มเทสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือแบบหามรุ่งหามค่ำ แต่สิ่งที่ขาดก็งานด้านประชาสัมพันธ์ ขาดอย่างไรต้องอ่าน (บางตอน) ที่คุณศศิน เฉลิมลาภ โพสต์..
“ดูข่าวน้ำท่วมลพบุรีแถวลำนารายณ์ ลำสนธิ สงสารคนลำนารายณ์ ชัยบาดาล ลำสนธิ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดลพบุรี
โดนน้ำท่วมแบบน้ำป่าไหลมาจากภูเขา เพราะฝนหนักจากดีเปรสชั่นเคลื่อนผ่าน รอบๆ ชุมชนเป็นเนินชัน มีแต่ไร่พืชเชิงเดี่ยวไม่มีอะไรช่วยต้านน้ำ แต่ก็ถือเป็นภัยพิบัติที่มากับพายุ ไม่ได้มาประจำทุกปี
ภัยพิบัติแบบนี้ วิธีการลดผลเสียหายเดือดร้อนคือการเตือนภัย จาก ปภ. หรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานกับฝ่ายปกครอง วิเคราะห์ และประเมินการเตือนภัย และเตรียมเยียวยาฟื้นฟู
ซึ่งผมไม่ทราบว่าทำกันได้ดีขนาดไหน แต่เท่าที่ฟังข่าวหลายช่องแทบไม่มีใครใช้แผนที่อธิบายทางน้ำเลยว่า ส่วนไหนจะไปเขื่อนป่าสักที่ก่อนพายุมาขาดน้ำขั้นวิกฤติ จะได้น้ำจากนี้ไปเติมเท่าไหร่
และน้ำจากป่าสักสำหรับพายุลูกนี้ยังไม่มีปัญหา และน้ำส่วนไหนของฝนหนักที่จะเลยไปถึงทุ่งลพบุรี ที่ยังไม่มีน้ำมากนัก ทุ่งบ้านแพรก ทุ่งมหาราช สองฝั่งแม่น้ำลพบุรี ที่แทบยังไม่มีน้ำท่วมเลย
ขณะที่สถานการณ์สุโขทัย ที่น้ำท่วมแทบไม่ได้มาจากแม่น้ำยมจากทางเหนือแต่เป็นน้ำบ่าเข้ามาจากลุ่มน้ำโดยรอบเนื่องจากพายุใหญ่ผ่านเช่นกัน
และน้ำจากสุโขทัยก็จะลงทุ่งบางระกำ ที่เป็นพื้นที่รับน้ำได้ ก่อนจะรวมกับแม่น้ำน่าน ซึ่งยังไม่มีน้ำมากนัก มารวมกันที่นครสวรรค์ และผ่านมาบึงบอระเพ็ดที่ยังรับน้ำได้
ปล่อยข่าวให้คนมโนไปว่ามวลน้ำจะมา แค่ใช้ศัพท์มวลน้ำมาคนก็คิดว่าจะมาตามประสบการณ์ของตัวเองไหม
ไม่มีใครมาพูดให้รู้เรื่องทั้งๆ ที่น้ำท่วม 54 ก็เพิ่มคนรู้ เพิ่มความรู้กันตั้งเยอะ แต่ไม่เพิ่มวิธีการสื่อสารเลย
เช่นเดียวกับน้ำท่วมระหว่างถนนที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประคองน้ำไม่ให้ท่วมออกมา ถ้าน้ำยังแค่นี้ และพามวลน้ำท่วมที่แคบๆ ที่ว่ามาระบายออกระบบคลอง
ที่แบ่งน้ำออกไปทางข้างกระจายไปทุ่งนั้นทุ่งนี้ หรือมาถึงอยุธยา ปทุมก็มีระบบคลองแบ่งน้ำลดระดับออกไปกี่คลองซึ่งตามปกติ น้ำแค่นี้ยังรับได้สบายๆ ถ้าเขื่อนเจ้าพระยายังระบายเท่านี้
หน่วยงานราชการทางการก็ไม่มีช่องทางอธิบาย หรือมีมืออาชีพมาอธิบายแล้วคนฟังแล้วมั่นใจ เชื่อถือ รู้เรื่อง เหมือนเดิม”