เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการลงนามความร่วมมือระหว่าง สธ. กับบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสาธารณสุขแห่งชาติ ว่า หลังจากนี้กระทรวงจะยกร่างทีโออาร์ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่บริษัท กสท.ฯ จะนำมาใช้ เพื่อให้สถานบริการด้านสาธารณสุขใช้ระบบเป็นแบบเดียวกัน เบื้องต้นคาดว่าเดือนธันวาคมนี้จะแล้วเสร็จ และดำเนินการตามกรอบที่กฎหมายกำหนดได้ตั้งแต่ต้นปี 2563 ตนมั่นใจว่า บริษัท กสท. ที่มีเทคโนโลยีและบุคลากรที่เชี่ยวชาญ จะดำเนินการด้านระบบให้สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านสาธารณสุขให้สำเร็จได้ตามกรอบเวลา และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเหตุผลที่ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มฯดังกล่าว เพราะปัจจุบันหน่วยบริการสาธารณสุขของประเทศเป็นแบบแยกส่วน ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน หรือผู้ใช้บริการ ดังนั้นหากพัฒนาระบบปฏิบัติการให้เป็นระบบเดียวกันหรือ single system เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน หรือ เวียดนาม จะยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” นพ.อนันต์ กล่าว
นพ.อนันต์ กล่าวว่า ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีระบบปฏิบัติการ สธ. จำเป็นต้องปฏิรูปข้อมูลที่จะบรรจุในแพลตฟอร์มก่อน ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาสมควร เนื่องจากแต่ละหน่วยบริการขาดการบูรณาการข้อมูล ทำให้ข้อมูลกระจัดกระจาย แต่เราได้วางแผนการทำงานในระยะต่างๆ รองรับไว้แล้ว โดยในปี 2564 การเชื่อมข้อมูลทุกรมของกระทรวงสาธารณสุขจะต้องชัดเจน และในปี 2565 จะมีความชัดเจนในการบูรณาการข้อมูลกับสถานบริการสาธารณสุขของเอกชน อย่างไรก็ตาม แนวทางเร่งรัดดังกล่าวตนเตรียมเสนอไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานะฝ่ายนโยบาย ให้ขับเคลื่อนวาระดังกล่าว รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มสาธารณสุขเป็นวาระแห่งชาติ
ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จากการลงนามร่วมกันระหว่าง สธ. กับ บริษัท กสท.ฯ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขของพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ซึ่งเมื่อโครงการนี้สามารถทำได้อย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการสาธารณสุขได้อย่างมาก ประชาชนไม่ต้องรอรับบริการเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลไหน ก็สามารถเรียกข้อมูลการรักษา ข้อมูลต่างๆของผู้ป่วยมาตรวจสอบได้ทันที ทำให้เกิดความรวดเร็วในการบริการ แน่นอนหากโครงการดังกล่าวทำได้สำเร็จ ประกอบกับนโยบายด้านสาธารณสุขของพรรคภูมิใจไทย คือ Telemedicine จะเป็นการพลิกโฉมวงการแพทย์ไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ รวมถึงยังเป็นพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย
“ที่สำคัญคือการบริหารงานของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ของผู้บริหารของกระทรวง ที่กว้างไกล เห็นความสำคัญในการปรับตัวของระบบสาธารณสุขให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมถึงการพัฒนาระบบ และเทคโนโลยี จะทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบคุณภาพการบริการได้ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาดีขึ้น เนื่องจากทุกสถานบริการสาธารณสุขต้องแข่งขันด้วยคุณภาพ เพราะเมื่อข้อมูลด้านสาธารณสุขถูกเชื่อมโยง ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลสุขภาพที่ตนเองรักษาได้ จะทำให้เกิดการเลือกสรรการรักษาหรือการบริการที่ตนเองพอใจมากที่สุด” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว