กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกคู่มือการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ในพื้นที่เฉพาะ (bubble and seal) สำหรับสถานประกอบกิจการ หรือคู่มือบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อให้สถานประกอบกิจการทุกประเภททุกขนาด นำไปปรับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการควบคุมการระบาดป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชน โดยไม่ต้องปิดกิจการ โดยให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค จัดอบรมวิธีการใช้ชุดเอทีเค ตรวจสอบการติดเชื้อเบื้องต้นให้ด้วย และเตรียมจัดเสวนาผนึกกำลังฝ่าวิกฤตโควิด 19 ในสถานประกอบกิจการ ในวันที่ 3 กันยายน 2564 นี้ผ่านระบบออนไลน์
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค ได้ขานรับมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติล่าสุด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ให้ความเห็นชอบมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะหรือที่เรียกว่าบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and seal) สำหรับสถานประกอบกิจการที่มักพบการระบาดของโรคโควิด 19 เป็นกลุ่มก้อน เนื่องจากมีพนักงานทำงานจำนวนมาก
โดยกองโรคจากการประกอบอาชีพฯ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำคู่มือมาตรการฯ เพื่อให้สถานประกอบกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงงาน ที่มีที่ตั้งอยู่ภายในและภายนอกการนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีทุกประเภททุกขนาดทั่วประเทศ นำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของสถานประกอบกิจการ โดยไม่ต้องปิดกิจการ แม้ว่าจะมีพนักงานติดเชื้อโควิดก็ตาม
ซึ่งจะช่วยสถานประกอบกิจการและพนักงานสามารถดำเนินการต่อได้ สร้างรายได้ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปอย่างต่อเนื่อง คู่มือนี้ประกอบด้วยมาตรการ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการป้องกันโรคและส่วนที่สอง คือ มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการควบคุมโรค
สำหรับส่วนแรก คือ มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการป้องกันโรค ใช้สำหรับโรงงานที่ยังไม่มีพบผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดในวงกว้าง ภายใต้หลักการ จัดกลุ่ม-คุมไว-ลดการแพร่กระจาย-รายได้ไม่สูญ โดยให้ทุกแห่งดำเนินการป้องกันโรคตามาตรการพื้นฐาน คือ
1.การตรวจคัดกรองไข้หรือพนักงานที่มีอาการป่วยเป็นประจำทุกวัน 2.มาตรการส่วนบุคคล คือ ให้พนักงานทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และสุ่มตรวจหาเชื้อด้วยชุดเอทีเค (Antigen Test Kit) ทุก 1-2 เดือน ใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะและไทยเซฟไทย เพื่อสามารถติดตามประวัติการเดินทางและความสี่ยงของพนักงานทุกคน
3.การรับพนักงานใหม่ จะต้องตรวจการติดเชื้อและกักตัวเป็นเวลา 14 วันก่อนเข้าทำงาน 4.การปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในให้เอื้อต่อการควบคุมโรค และ 5.การจัดหาวัคซีนฉีดครอบคลุมพนักงานอย่างน้อยร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
สำหรับการบริหารจัดการเพื่อการป้องกันโรค เน้นการจัดกลุ่มผู้ปฏิบัติงานออกเป็นกลุ่มย่อย (small bubble) ตามลักษณะการทำงานหรือการทำกิจกรรม โดยไม่ข้ามกลุ่ม เช่น จัดกลุ่ม ฝ่ายขาย ฝ่ายการผลิต ฝ่ายซ่อมบำรุง กลุ่มละ 10-20 คน เป็นต้น มีการสุ่มตรวจหาเชื้อด้วยวิธีชุดเอทีเค และตรวจยืนยันด้วยวิธีอาร์ที พีซีอาร์ (RT-PCR) หากพบผลเป็นบวก ให้แยกผู้ติดเชื้อออกไปรักษา ส่วนคนที่เหลือในกลุ่มให้กักกัน (Factory Quarantine หรือ Home Quarantine) แต่ยังสามารถทำงานได้ต่อไปโดยไม่ต้องหยุดงาน
ส่วนที่สอง คือ มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการควบคุมโรค ใช้สำหรับกรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบกิจการ เพื่อเป็นการควบคุมการระบาดภายในสถานประกอบกิจการและลดการแพร่เชื้อสู่ชุมชน โดยแบ่งระดับการติดเชื้อในสถานประกอบกิจการ ได้แก่
ระดับน้อย เมื่อพบอัตราพนักงานติดเชื้อต่ำกว่าร้อยละ 10 ระดับปานกลาง เมื่ออัตราการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 และ
ระดับมาก เมื่อมีพนักงานติดเชื้อมากกว่าร้อยละ10 ของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 คนขึ้นไป หรือพบมีการติดเชื้อติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 14 วัน ในรอบ 28 วัน จะใช้มาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีลควบคุมเข้มงวด
โดยแยกผู้ติดเชื้อออกเข้าสู่ระบบรักษา เช่น ที่บ้าน (Home Isolation) รพ.สนาม หรือรพ.คู่ปฏิบัติการเมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เหลือให้กักกันบริเวณที่พักที่กักให้ สามารถทำงานได้แต่ต้องไม่ข้ามกลุ่ม ถ้าผู้ปฏิบัติงานมีอาการให้ตรวจชุดเอทีเค เพื่อประเมินการติดเชื้อ ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มอื่น ยังสามารถทำงานในกลุ่มของตนเอง และไม่ข้ามกลุ่ม การทำกลุ่มย่อย จะช่วยลดการแพร่เชื้อระหว่างกล่มและไปสู่ชุมชน
กรณีผู้ปฏิบัติงานกลุ่มเปราะบางควรตรวจชุดเอทีเคทุกคน หากผลตรวจเป็นลบและยังไม่ได้ฉีดวัคซีน สถานประกอบกิจการควรเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มดังกล่าว และผู้ปฏิบัติงานที่เหลือในสถานประกอบกิจการ โดยควรมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า สำหรับการใช้ชุดตรวจสอบเอทีเค เพื่อตรวจสอบการติดเชื้อโควิด 19 กรมควบคุมโรคได้ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ในพื้นที่กทม. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ จัดอบรมบุคลากรของโรงงาน สถานประกอบกิจการในต่างจังหวัดและกทม. เพื่อให้มีทักษะ สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง ทั้งด้านเทคนิควิธีการและใช้ตรวจพนักงานในรายที่มีอาการในข่ายสงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด เช่น มีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่นขึ้น หรือมีประวัติสัมผัสคนติดเชื้อในช่วง14 วัน เป็นต้น
ทั้งนี้ คู่มือมาตรการฉบับนี้ เน้นการดูแลผู้ปฏิบัติงานทั้งกายและจิตใจ ด้วยการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สามารถดาวน์โหลดคู่มือมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) สำหรับสถานประกอบกิจกาสามารถดาวน์โหลดเอกสาร ได้จาก https://ddc.moph.go.th/doed/pagecontent.php?page=739&dept=doed
โดยในวันที่ 3 กันยายน 2564 กรมควบคุมโรคจะจัดเสวนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนี้ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน ผ่านระบบออนไลน์ และเฟชบุ๊ค โดยมีนายกอบชัย สังสิทธิ์สวัสดิ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน