อีกหนึ่งโรคทางทวารหนักที่พบบ่อยไม่แพ้โรคริดสีดวงทวาร คือโรคฝีคัณฑสูตร ซึ่งมักทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณรอบทวารหนัก และกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับหูรูด หลังการรักษาสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นายแพทย์นเรนทร์ สันติกุลานนท์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคฝีคัณฑสูตร เป็นโรคติดเชื้อทางทวารหนักระยะเรื้อรัง เกิดจากต่อมผลิตเมือก (ANAL Gland)บริเวณขอบทวารหนัก มีการอุดตันและอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียและอุจจาระจนเกิดเป็นฝีภายใน และเมื่อปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานกระทั่งฝีแตกออก จนมีหนองไหลมาที่ชั้นผิวหนังที่อยู่รอบทวารหนัก ก็จะกลายเป็นทางเชื่อมระหว่างทวารหนักและผิวหนังที่เรียกว่า “ฝีคัณฑสูตร”
โรคฝีคัณฑสูตร แบ่งได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่
- Intersphincteric เป็นฝีคัณฑสูตรที่อยู่ระหว่างกล้ามเนื้อหูรูดชั้นในและชั้นนอก
- Low Transphinctericเป็นฝีคัณฑสูตรที่ทะลุผ่านกล้ามเนื้อหูรูดชั้นในและชั้นนอกเล็กน้อย
- High Transphincteric เป็นฝีคัณฑสูตรที่ทะลุผ่านกล้ามเนื้อหูรูดชั้นในและชั้นนอกมากขึ้น
- Suprasphincteric เป็นฝีคัณฑสูตรที่พบได้น้อยมาก มีลักษณะโค้งขึ้นไปด้านบนของหูรูดชั้นนอก การรักษาทำได้ค่อนข้างยากและซับซ้อน
โดยอาการของฝีคัณฑสูตรที่สามารถสังเกตได้เบื้องต้น ได้แก่ มีน้ำไหลซึมที่ก้น ก้นแฉะ และมีเลือดหรือหนองออกมาบริเวณข้างทวารหนัก ในบางคนอาจมีอาการคัน หรือมีตุ่มขึ้นที่ก้น
หลักการรักษาของโรคฝีคัณฑสูตร คือการปิดรูของต่อมผลิตเมือกที่มีการอุดตัน แต่ต้องไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของหูรูด และเมื่อรักษาแล้วคนไข้ยังสามารถกลั้นอุจจาระได้ ซึ่งในปัจจุบันมีเทคนิคการรักษาที่ใช้ได้กับฝีคัณสูตรที่มีการทะลุผ่านกล้ามเนื้อหูรูดชั้นนอก แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายของหูรูด เรียกว่าเทคนิค LIFT
การรักษาโรคฝีคัณฑสูตรด้วยเทคนิค LIFT (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract) คือการผ่าตัดเพื่อเข้าไปผูกท่อหรือทางเชื่อมที่อยู่ระหว่างหูรูด เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จะทำการผ่าตัดเข้าไประหว่างชั้นของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเพื่อคล้องบริเวณทางเชื่อม จากนั้นทำการตัดและเย็บปิดทางเชื่อมนั้น ทำให้เชื้อแบคทีเรียหรืออุจจาระไม่สามารถเข้ามาอุดตันภายในได้ โดยผลการผ่าตัดด้วยเทคนิดนี้ สามารถหายขาดมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนน้อยเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่อาจต้องผ่าตัดซ้ำ
“ถ้าเริ่มมีอาการคลำก้นแล้วเจ็บ หรือเริ่มมีไข้ ให้สงสัยว่าเป็นฝี ให้รีบมาเจาะหนองออก เพราะยิ่งปล่อยให้ลุกลามจะยิ่งยากต่อการรักษา และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างเยอะ ส่วนการรักษาด้วยเทคนิค LIFT สามารถใช้ได้กับฝีคัณฑสูตรตั้งแต่ชนิดที่ 2 ขึ้นไป หากรีบมาตรวจรักษาเร็ว การผ่าตัดก็ยิ่งมีประสิทธิภาพ” นายแพทย์นเรนทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม โรคฝีคัณฑสูตรสามารถเกิดขึ้นได้อีก จากต่อมผลิตเมือกต่อมอื่น ๆ และเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ จึงควรดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอย่างเคร่งครัด เช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ระวังไม่ให้เกิดอาการท้องเสีย หรือท้องผูก เพื่อป้องกันไม่ให้ปมที่ผูกรักษาไว้หลุด รวมถึงรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เป็นต้น