การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคการศึกษาตามนโยบายการศึกษาไทยยุค 4.0 และด้วยนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล(Digital University) จึงได้ขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลทั่วมหาวิทยาลัย ระบบเครือข่ายไร้สายกว่า 5,600 จุด เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยกว่า 50,000 คน สามารถใช้งานเครือข่าย Wi-Fi สร้างการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของทั้งนักศึกษาและตอบโจทย์การทำงานของบุคลากรให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เข้าถึงง่ายจากทุกที่ทุกเวลา เพื่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
ภายใต้แผนการดำเนินงานด้าน Digital Transformation มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายไร้สายให้รองรับจำนวนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทั้งโน๊ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแบ่งการปรับปรุงระบบออกเป็น 2 เฟส คือ การขยายระบบเพิ่มด้วย Access Points มาตรฐาน Wi-Fi 5 จำนวน 3,500 เครื่อง ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และการอัพเกรด Access Points เดิม ตรงจุดที่มีการใช้งานหนาแน่น ให้เป็น Access Point มาตรฐาน Wi-Fi 6 รวม 2,100 จุด เพื่อเพิ่มความเสถียรและความเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานในพื้นที่ที่มีบุคลากรและนักศึกษาหนาแน่นได้อย่างไม่ติดขัด และให้บริการได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงโดย Access Points ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อกลับมาที่ส่วนกลางและบริหารจัดการผ่าน Controller เพื่อให้สามารถติดตามสถานะการทำงานได้แบบเรียลไทม์
การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการศึกษาแห่งอนาคตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ การจัดการศึกษาโดยเอาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง (Competency-Based Education) เกิดการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามหลักสูตร ความความชอบ ความถนัดและความสนใจ ได้อย่างอิสระ โดยมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาสนับสนุน โดยรูปแบบการเรียนในลักษณะออนไลน์ ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ของมหาวิทยาลัยและสามารถเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อปริญญาได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับสังคมโดยรวมของประเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงการเรียนการสอน การบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ให้เกิดความคล่องตัวอย่างสมบูรณ์แบบ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถให้นักศึกษาและผู้เรียนทุกช่วงอายุในการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดและก้าวสู่การเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลได้อย่างภาคภูมิ