9 มิถุนายน 2564 เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า
ศบค. มีความเป็นห่วงใยประชาชนจากที่ได้ปูพรมฉีดวัคซีน 2 วันที่ผ่านมา ได้มีการติดตามควบคู่กันไปกับอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบทางมีการจัดการบริหารข้อมูล ติดตามหลังการฉีดวัคซีนไม่เฉพาะเฝ้าระวังในบริเวณที่ฉีดวัคซีน 30 นาทีเท่านั้น หลังฉีดจะมีการติดตาม 7 วันหรือ 14 วัน ด้วย
รวมทั้ง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือ Adverse events following immunization (AFFI) การติดตามหลังฉีดวัคซีน ภายใต้ระบบข้อมูลคือ MOPH Immunization Center (Moph IC) ของกระทรวงสาธารณสุข
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวว่า หากประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วมีอาการผิดปกติ ก็สามารถติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งในแต่ละจังหวัด อาทิ สสจ. สปสช. จะมีคณะอนุกรรมการจังหวัด มีกรรมการผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชาชีพ ทำการสอบสวนโรคและพิจารณาชดเชยแยกตามความรุนแรง ไปจนถึงในกรณีที่มีการเสียชีวิต
ที่สำคัญคือ ประชาชนที่รายงานอาการไม่พึงประสงค์จะได้รับการดูแลโดยด่วน รวมทั้งได้รับเยียวยาค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา มีระบบประกันที่จะชดเชยให้กับทุกคน ผู้เช่วยโฆษก ศบค. ยังฝากไปยังโรงพยาบาลหรือสถานที่บริการฉีดวัคซีน ต้องลงข้อมูลในระบบหมอพร้อม รวมถึงมีการดูแล เฝ้าระวังให้ประชาชนปลอดภัยและสร้างมั่นใจในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนด้วย