“ปลูกถ่ายไตได้มั้ย…ในช่วงโควิด-19”

พญ.พิชชาพร นิสสัยสรการ  

อายุรแพทย์โรคไตและผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายไต

เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์  สหรัฐอเมริกา    

พญ.พิชชาพร นิสสัยสรการ เป็นแพทย์โรคไตรุ่นใหม่ และเป็นแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ได้ศึกษาต่อเฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรคไตที่สหรัฐอเมริกาและกำลังศึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อยอดด้านการปลูกถ่ายไต มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปัจจุบันมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกา โดยเป็นแพทย์แนวหน้าในการปฏิบัติงานในช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราการติดเชื้อมากที่สุดของโลก ช่วงจุดสูงสุดของโรคระบาด ได้ดูแลทั้งผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยหนักใน ICU ทั้งที่เป็นผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ  (ไต, ตับ, ตับอ่อน)

มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกด้านโรคไต ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างและสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางการแพทย์เกี่ยวกับยา niacinamide หรือ วิตามินบี 3 ซึ่งพบว่าอาจมีส่วนช่วยทำให้ผลการรักษาภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้ติดเชื้อโควิดได้ดีขึ้น

พญ.พิชชาพร กล่าวว่า การก้าวผ่านทางเดินเป็นแพทย์ได้รับแบบอย่างที่ดีจากคุณพ่อและป้า ซึ่งได้เห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นอาชีพที่ได้นำองค์ความรู้ที่เรียนมาใช้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยตรง และได้มีโอกาสดูแลคุณพ่อคุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ และเป็นที่พึ่งพิงให้ท่านในยามแก่เฒ่า ทำให้เกิดอุดมคติในการทำงานด้านการแพทย์ของคุณหมอ

“คุณพ่อ (รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ) จะสอนด้วยการกระทำให้เห็นเป็นแบบอย่างค่ะ ท่านเป็นแบบอย่างของแพทย์ในอุดมคติ ทุ่มเทให้กับการดูแลคนไข้ คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ต่อสังคมก่อนเสมอค่ะ นอกจากการกระทำ คำสอนหนึ่งที่ยังจำได้ชัดเจนจนทุกวันนี้คือ ช่วงที่เป็นแพทย์จบใหม่ใช้ทุนอยู่ที่ รพ.จังหวัด ช่วงนั้นเหนื่อยมากค่ะเพราะต้องทำงานติดต่อกัน 36 ชั่วโมง (ตรวจคนไข้ทั้งวันและอยู่เวรต่อตอนกลางคืน โดยมีเราเป็นแพทย์คนเดียวทั้งคืน ดูคนไข้ทั้งวอร์ด รวมทั้งคนไข้รับใหม่ และตรวจคนไข้ต่อในวันรุ่งขึ้น) คุณพ่อได้สอนว่า “เราแค่อดหลับอดนอนไม่กี่ชั่วโมง เพื่อต่ออายุให้คนไข้มีชีวิตถึงวันพรุ่งนี้” ได้ฟังเท่านั้นก็มีกำลังใจขึ้นมาค่ะ เป็นการเตือนสติที่ดี เมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ทำเพื่ออะไร ก็จะมีแรงไปต่อค่ะ”

สำหรับในช่วงโควิด-19 ในต่างประเทศประสบความยากลำบากในการปลูกถ่ายไตเนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดช่วงโควิดระบาดคือ “ความไม่รู้”  ช่วงแรก ๆ วงการแพทย์จึงไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับโรคเลย ไม่ทราบว่ามาจากไหน ติดต่อกันอย่างไร อาการเป็นอย่างไร ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง และที่สำคัญจะต้องรักษาอย่างไร มีอาการแทรกซ้อนเป็นอย่างไร

ทั้งหมดนี้ทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะหยุดชะงักลงทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีการปลูกถ่ายไตจากผู้ที่มีชีวิตลดลงถึง 70% และมีข้อจำกัดในการปลูกถ่ายไตจากผู้ป่วยสมองตายมากถึง 80%   ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรด้านการแพทย์ไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ มีความจำเป็นที่ต้องได้รับยากดภูมิอย่างมากในช่วงแรกหลังการผ่าตัด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ สูง เมื่อมีโควิด-19 ระบาดความกังวลด้านนี้จึงมากขึ้น

รวมไปถึงการตรวจเชื้อโควิดในระยะแรกยังไม่เป็นมาตรฐาน มีความเสี่ยงที่จะนำโรคจากผู้บริจาคอวัยวะไปสู่ผู้รับการปลูกถ่ายได้ จะเห็นได้ว่าโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อทุกขั้นตอนของการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นอย่างมาก ในขณะนี้เป็นช่วงวิกฤตของการติดเชื้อโควิด-19  การปลูกถ่ายไต แต่เราได้เริ่มมีความรู้ มีการทำงานวิจัย เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น รวมไปถึงอัตราการแพร่ระบาดของโรคลดลงในพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีน การปลูกถ่ายไตจึงค่อยๆ ฟื้นตัว และหลาย ๆ รพ.ในสหรัฐอเมริกา เริ่มกลับมาทำการปลูกถ่ายมากขึ้นแล้ว มีการคัดกรองอาการของโรค และทำการตรวจเชื้อโควิดแบบด่วน ทั้งในผู้บริจาค และผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะก่อนการผ่าตัด

ในปัจจุบันการปลูกถ่ายไตหลัก ๆ มีการรับบริจาค 2 วิธี คือ 1.ผู้บริจาคสมองตาย หมายถึงผู้ป่วยที่เพิ่งจะเสียชีวิต สมองตาย แต่อวัยวะอื่นๆ ยังทำงานอยู่ สามารถนำไต และอวัยวะ อื่นๆ ไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่นได้ และ 2.ผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่ เป็นการรับบริจาคจากญาติ หรือ เพื่อนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีความประสงค์ที่จะบริจาคให้ผู้ป่วย ซึ่งจะมีเทคนิคการผ่าตัดคล้ายกันทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย มีการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็กในผู้บริจาคไต และนอกจากนี้ รพ. บางแห่งในสหรัฐอเมริกามีการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์(โรบอต)  ส่วนในกรณีที่ผู้บริจาคและผู้รับไตมีเนื้อเยื่อหรือกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากัน จะมีระบบจัดสรรแลกเปลี่ยนคู่บริจาคให้เนื้อเยื่อหรือกรุ๊ปเลือดตรงกันเพื่อลดโอกาสการต่อต้านไตที่ปลูกถ่ายให้

ในกรณีที่ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะโรคไตที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ยังสามารถปลูกถ่ายไตได้ โดยสาเหตุของโรคไตวายในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ที่รอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตนั้นมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากเปรียบเทียบระบบการคัดกรองการเปลี่ยนถ่ายไตของสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยในช่วงโควิด-19 จะมีความคล้ายคลึงกัน คือทั้งผู้บริจาคและผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจะต้องไม่มีอาการของโรคโควิด-19  คือ ต้องไม่มีไข้ ไอ หอบ อาเจียน ท้องเสีย ไม่ได้กลิ่น ไม่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย หรือเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงโรค และจะต้องมีการตรวจเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน เพื่อยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าห้องผ่าตัด ดังนั้นผู้ที่บริจาคและผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะต้องได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับคนไข้ก่อนหรือหลังของการปลูกถ่ายไตจะเป็นการดีที่สุด

Written By
More from pp
เปิดแล้ว! “โรงพยาบาลสนามจังหวัดนครราชสีมา”
พลตรี ชลิต บรรจงปรุ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 21 ร่วมแถลงข่าวกับ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิด “โรงพยาบาลสนามจังหวัดนครราชสีมา” จำนวน...
Read More
0 replies on ““ปลูกถ่ายไตได้มั้ย…ในช่วงโควิด-19””