เรื่องของการใช้อำนาจ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ครื้นเครงกันใหญ่!

            เรื่องรัฐมนตรีนินทานายกฯ มองในแง่ความเป็นมนุษย์ ธรรมดามาก

            ลูกน้องนินทาเจ้านายมีให้เห็นถมถืด

            สมัยนี้ลูกนินทาพ่อแม่ เห็นกันเพียบ

            ไม่ใช่แค่นินทา ด่าออกสื่อ กำลังจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา

            แต่ไอ้ธรรมดาที่เห็นกันอยู่นี้ มันจะสร้างความฉิบหายเข้าสักวัน

            ทำไมรัฐมนตรีต้องแอบนินทานายกฯ เห็นว่าบางคนนินทาออกสื่อ ถึงขนาดที่ว่านายกฯ ขู่ว่ามีทีมติดตามดูโซเชียลอยู่นะ  

            ใครนินทาจะริบเก้าอี้รัฐมนตรี

            มันก็มาจากหลายสาเหตุ

            นายกฯ อาจไม่ได้เรื่องจริงๆ

            หรือเพราะรัฐมนตรีห่วย จนนายกฯ ต้องออกมาบ่น  ประชาชนลงชื่อไล่

            ครับ….การบริหารราชการแผ่นดิน มันมีลำดับขั้นการบังคับบัญชา  

            การตัดสินใจของนักการเมือง คือการตัดสินใจทางการเมือง

            ถ้าเห็นว่า นายกฯ ไปไม่ไหวแล้ว รัฐมนตรีควรแสดงสปิริตบอกให้ประชาชนได้รับรู้ ด้วยการลาออกจากรัฐบาล

            แต่ถ้าแค่นินทาแล้วอยู่ต่อ….

            เขาเรียกว่าปลิง

            รัฐมนตรีที่เกาะอยู่กับนายกฯ ที่ตัวเองนินทา ไม่มีอะไรต่างจากปลิง

            อยู่เพื่อสูบเลือด มากกว่าทำเพื่อประชาชน

            ใช้ไม่ได้ครับ

            เรื่องนี้ตรรกะง่ายๆ ถ้าเห็นว่ารัฐบาลไปไม่ไหวแล้ว ก็ถอนยวงเสีย บีบให้ “ลุงตู่” ลาออก หรือยุบสภา เปลี่ยนรัฐบาลกันใหม่

            แต่ถ้าเห็นว่ารัฐบาลยังทำงานได้ การเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่ใช่ความคิดที่ดี ก็ควรแสดงความเป็นผู้ใหญ่ แสดงความเป็นนักการเมืองคุณภาพ รีดผลงานตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด 

            เพราะสุดท้ายมันก็คือผลงานรัฐบาล

            และคนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน

            อย่าลืมนะครับ คุณสมบัติที่ดีของนักการเมืองคือ “การรับผิดชอบร่วมกัน”

            ถ้ายังไม่รู้จัก รับผิดชอบร่วมกัน รู้แต่จะหาประโยชน์ทางการเมืองเพื่อพรรคตัวเอง ควรจะเลิกเล่นการเมืองไปซะ

            อยู่ไปก็เป็นตัวถ่วงประเทศเปล่าๆ

            ตอนนี้มีเรื่องเข้าใจกันผิดๆ เยอะ แม้กระทั่งเรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว

            ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่

            ถ้าจำกันได้….

            ๒๕ มีนาคมปีที่แล้ว โควิดเริ่มระบาดหนัก วันนั้น  พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ ออกคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โอนอำนาจรัฐมนตรี ให้เป็นอำนาจนายกฯ ชั่วคราว

            คราวนั้น โยกกฎหมายทั้งสิ้น ๔๐ ฉบับ มาสั่งการแทนรัฐมนตรี

            นักวิชาการ ฝ่ายค้าน พากัน โจมตีว่าเป็นรัฐประหารเงียบ

            บ้างก็ว่าบริหารประเทศแบบเผด็จการ

            แต่ผลของการโยกอำนาจที่ว่านี้ ประเทศไทยได้รับคำชมจากทั่วโลกว่า สามารถรับมือกับโควิด-๑๙ ได้ดีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก

            ถ้าไม่โยกอำนาจจะเกิดอะไรขึ้น 

            ผลงานการสู้กับโควิด-๑๙ จะออกมาดีจนต่างชาติชื่นชมหรือเปล่า คงตอบไม่ได้

            แต่ที่แน่ๆ คือสายการบังคับบัญชายาวเฟื้อย ขณะที่การรับมือกับโควิด-๑๙ ต้องตัดสินใจฉับพลัน        

            ต้องเดี๋ยวนั้น!

            วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ มีคำสั่งที่ ๒ ออกมา เรียกว่า การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ๒)

            เนื้อหาคร่าวๆ คือ เพื่อให้การสั่งการและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา ๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ. ๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรี

            จึงมีมติให้ยกเลิกการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการ ตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ตาม ๑ ถึง ๔๐ แห่งประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๕  มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

            มาคราวนี้โควิดระบาดรอบ ๓ และหนักหนาสาหัสกว่าเดิม 

            เป็นที่มาของประกาศ “การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ๓)”

            และฉบับที่ ๓ นี้ โยกอำนาจมาอยู่ในมือ นายกฯ ๓๑  ฉบับ

            ซึ่งน้อยกว่า ประกาศฉบับแรกที่โยกถึง ๔๐ ฉบับ

            ที่ถูกหั่นออกไปมีดังนี้

            พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ 

            พ.ร.บ.การเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙

            พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒

            พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒

            พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒

            พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕

            พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

            พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒

            พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

            พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗

            พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐

            ถ้าบอกว่าเป็นรัฐประหารเงียบ ก็คงจะเงียบกว่าคราวที่แล้ว เพราะยึดอำนาจมาน้อยกว่า

            แต่อยากให้ดูสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า และวิธีการแก้ไข

            คราวที่แล้วสำเร็จเพราะการลดสายการบังคับบัญชา

            มาคราวนี้ “ลุงตู่” ใช้วิธีเดิม เพื่อการสั่งการที่เด็ดขาด  ชัดเจน และรวดเร็ว

            อาจไม่เป็นที่พอใจของคนที่กอดตำราประชาธิปไตย  เพราะดูประหนึ่งว่านายกฯ ยึดอำนาจทั้งหมดมารวมศูนย์

            แถมยังด่า “ลุงตู่” ว่าไร้ประสิทธิภาพ

            ครับ…คนทำงาน กับคนวิจารณ์นั้น มีข้อมูลในมือไม่เท่ากัน

            รอดูผลการรวบอำนาจ แล้วเดือนมิถุนายนมาคุยเรื่องนี้กันใหม่

            จะได้พิสูจน์กัน

            การแก้ปัญหาด้วยวิธีไหนกันแน่ ที่เหมาะกับประเทศไทย.  

 

Written By
More from pp
หาเสียงหลอกเด็ก-ผักกาดหอม
ผักกาดหอม ดุเดือดครับ… ตามไปดูการหาเสียงเลือกตั้งช่วงวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลากรสหลายแบบ เริ่มที่ “ลุงป้อม” สร้างสีสันด้วยลีลาใหม่ พาหลานๆไปนั่งกินข้าวย่านเสาชิงช้า ต่อที่ร้าน มนต์ นมสด
Read More
0 replies on “เรื่องของการใช้อำนาจ-ผักกาดหอม”