นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ผ่านระบบ VDO Conference เมื่อวันที่ 26 เม.ย. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานกรรมการ
ที่ประชุมฯ เห็นชอบการผลักดันให้ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ” เป็น “วาระแห่งชาติ” สอดคล้องกับข้อเสนอแนะนำจากสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี (กสส.) ซึ่งการดำเนินการจากนี้จะต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลให้ครอบคลุมและเจาะลึกในทุกมิติ เพื่อจัดทำร่าง วาระแห่งชาติฯ ก่อนเสนอให้ครม. พิจารณาต่อไป ภายในเดือน ก.ค. นี้
ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – GRB: A Practical Handbook) ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (ภาวะความเป็นหญิงหรือชายที่ถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม) 2) ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ สามารถสจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะของหน่วยงาน นำไปสู่ผลลัพธ์ คือการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมและเหมาะสมตามความจำเป็นและความต้องการของประชากรที่มีความแตกต่างทางเพศ วัย และสภาพของบุคคล โดยคาดว่า ในเดือน มิ.ย.จะเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อมีมติให้ทุกหน่วยงานนำคู่มือฯ ไปใช้ในการจัดทำงบประมาณ
อนึ่ง สถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2562 จัดทำโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 15,797 ราย หรือเฉลี่ย 43 รายต่อวัน ผู้กระทำความผิด 3 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว คือ สามีภรรยา แฟน และอื่นๆ เช่น คนรู้จักทาง Facebook แฟนเก่า เพื่อนของญาติ ฯลฯ ในขณะที่ มีคดีความรุนแรงในครอบครัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวม 174 คดี นางสาวรัชดา กล่าว